Search

สรุปประเด็น ‘ค่าไฟแพง’ ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’  24 มี.ค. 2568

ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’ วันที่ 24 มีนาคม 2568 มีการกล่าวถึงนโยบายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ค่าความพร้อมจ่าย โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แผน PDP 2024 ล่าช้า และการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหม่ในลาว

ประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ให้โรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟไม่เท่ากำลังการผลิตตามสัญญา

วรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึง “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนและผลักภาระนั้นเข้ามาในบิลค่าไฟให้ประชาชนแบกรับว่า จากนโยบายของรัฐที่ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับเอกชนจำนวนมากๆ จนทุกวันนี้ ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าล้นและเยอะเกินไฟฟ้าที่ใช้จริง โรงไฟฟ้าของเอกชนมาพร้อมกับต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย ที่แม้ว่าจะไม่เดินเครื่องเลย แต่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ยังคงได้เงินจากผู้ใช้ไฟฟ้า เมื่อคำนวณแล้วเป็นเงิน 2,500 ล้านบาทต่อเดือน เฉพาะปี 2567 ค่าความเสียหายโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเท่ากำลังผลิตตามสัญญา รวมประมาณ 55,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้หากหารด้วย 22.6 ล้านครัวเรือนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% คำนวณได้เป็นความเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ ปีละ 730 บาท/ครัวเรือน ถ้าคำนวณออกมาเป็นรายเดือนในบิลค่าไฟก็จะได้ เดือนละ 61 บาท/ครัวเรือน ((55,000*30%)/22.6=730)

ข้อสังเกตต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล

ประเด็นต่อมา วรภพกล่าวถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสสอง รอบ 3,600 เมกะวัตต์ว่า การดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบันเอื้อประโยชน์กับเอกชนบางกลุ่มหลายข้อ ดังนี้

  1. ไม่มีการประมูลแข่งขันราคาแต่อย่างใด เพราะมีการกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว ราคาที่รัฐจะรับซื้อเป็นเส้นตรงคงที่ตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท
  2. การรับซื้อไฟฟ้าที่ซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีพลังงานสะอาดของรัฐบาลเอง การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมัติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน  ขณะที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนล้นเกินอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าโดยเกินความต้องการ ราคาก็จะมาหารในบิลค่าไฟของประชาชนทุกคน
  3. การล็อกโควตาเฉพาะเอกชนที่ยื่นโครงการในระยะแรก 2,100 เมกะวัตต์ จะได้รับสิทธิพิจารณาก่อนเพื่อน เอกชนส่วนหลังจะมีสิทธิเฉพาะ 5,200 เมกะวัตต์ที่เหลือในส่วนหลัง เหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ และปลอบใจรายเก่า
  4. ไม่ประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิค ไม่บอกให้เอกชนรู้ล่วงหน้าว่า การคำนวนคะแนนเทคนิค จะให้น้ำหนักคะแนนจากปัจจัยใด ซึ่งจะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้ว่า กลุ่มทุนใดจะได้รับคัดเลือก

วรภพชี้ว่า “โครงการไฟฟ้าหมุนเวียน รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ตามระเบียบ กกพ. ระบุไว้ชัดเจนมากว่า กกพ. สงวนสิทธิยกเลิกโครงการได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง มติ กพช. ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มติ กพช.ก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้น ถึงจะยกเลิกโครงการได้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการที่จะ ยกเลิก ระงับ หรือ ชะลอ โครงการรับซื้อไฟฟ้าเฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ได้แน่นอน”

แผน PDP 2024 ล่าช้า

ศุภโชติ ไชยสัจ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงความล่าช้าของการออกแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP 2024)  แผนแม่บทในการวางแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ร่างแผน PDP 2024 ล่าช้า เป็นผลมาจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 3,600 เมกะวัตต์ดำเนินการแล้วเสร็จก่อน ขณะเดียวกันก็ไม่มีการทบทวนแก้ไขแผนฉบับนี้ ทั้งที่มีการเรียกร้องจากภาคนักวิชาการ ภาคประชาสังคม มีประชาชนรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาลก็ตาม

นอกจากนี้ เนื้อหาในร่างแผน PDP กำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการ และที่ผ่านมาไม่มีปีใดที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนที่พยากรณ์ไว้ ศุภโชติกล่าวว่า “เราประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เคยตรงกับค่าที่เราใช้จริง เผื่อเหลือเผื่อขาดมาตลอด แต่เราไปสร้างโรงไฟฟ้าเผื่อรอไว้แล้ว”

การเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหม่ในลาว

ศุภโชติ ยังได้อภิปรายถึงเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในราคาแพงขึ้น จากการไปเซ็นสัญญากับเขื่อนใหม่ และไม่ต่อสัญญากับเขื่อนเก่าที่กำลังจะหมดอายุสัญญา ซึ่งหากนายกฯ ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเจรจาขอขยายสัญญา ก็อาจปรับค่าไฟจากเขื่อนที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบันให้ถูกลงได้ เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ได้ถูกคืนทุนไปหมดเแล้ว และตัวเขื่อนเองยังเหลืออายุการใช้งานอีกหลายสิบปี

ศุภโชติ ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น เขื่อนเทินหินบุนที่มีกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ เริ่มขายไฟให้ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2541 ในราคา 1.6 บาท/หน่วย เมื่อเขื่อนจะหมดอายุสัญญาก็มีการเจรจาขอขยายสัญญาใหม่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถขยายกำลังการผลิตมาเป็น 440 เมกะวัตต์ได้ แม้จะขยายกำลังการผลิตเป็นเท่าตัว แต่ราคาค่าไฟฟ้าในสัญญาใหม่อยู่เพียงแค่ 1.86 บาท/หน่วยเท่านั้น หากไม่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มก็อาจซื้อไฟฟ้าได้ในราคาเท่าเดิม หรืออาจได้ราคาถูกลงกว่าเดิมก็เป็นได้ รัฐบาลไม่ยอมเข้าไปเจรจาขอขยายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการที่ขายไฟฟ้าถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนน้ำงึม 2  ราคา 2.02 บาท/หน่วย เขื่อนน้ำเทิน 2 ราคา 1.63 บาท/หน่วย เขื่อนห้วยเฮาะ 2.14 บาท/หน่วย

แต่รัฐบาลกลับไปเซ็นสัญญาขอซื้อไฟฟ้ามาในราคาแพง ได้แก่ เขื่อนปากแบง ของบริษัทไชน่าต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสต์เมนต์ ซึ่งเป็นสัญชาติจีน ร่วมทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ราคา 2.71 บาท/หน่วย เขื่อนปากลายของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ร่วมทุนกับบริษัทซิโนไฮโดร ฮ่องกง ราคา 2.69 บาท/หน่วย หรือเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันหลายบริษัท ได้แก่ บริษัทซีเคพาวเวอร์ บริษัท ช.การช่าง  บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัท PT Sole ราคา 2.84 บาท/หน่วย สุดท้าย เขื่อนเซกอง 4A และ 4B  ของบริษัท ราช กรุ๊ป ร่วมกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ และบริษัท Lao World Engineering and Construction ราคา 2.74 บาท/หน่วย ยังไม่รวมเขื่อนสานะคาม

ศุภโชติกล่าวว่า “ถ้าเราไปไล่ต่อสัญญาเขื่อนเก่าที่มีราคาซื้อไฟถูก เราจะสามารถลดปริมาณการสร้างเขื่อนใหม่ได้อีกเท่าไหร่ จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถประหยัดเงินค่าไฟฟ้าไปได้อีกเท่าไหร่”  

อ่านบทความ

  • ‘ลดค่าไฟ อย่าตัดแค่ค่า Adder/FiT : JustPow เสนอถ้าตัดค่าความพร้อมจ่ายด้วย ค่าไฟจะเหลือ 3.64 บาท/หน่วย’ ได้ที่ https://justpow.co/article-electric-bill/
  • ‘ย้อนรอย PDP แผนนี้ใครกำหนด…?’ https://justpow.co/article-pdp-history/
  • ปัญหาของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 https://justpow.co/article-re-biglot/
  • น้ำท่วม เขื่อนลาว นักลงทุนไทย ค่าไฟแพง : สำรวจเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวที่ขายไฟให้กับไทย https://justpow.co/article-laos-dam-project/

ข่าวยอดนิยม

ชาวบ้านตามุยประกอบพิธีเชิงสัญลักษณ์ ปกป้องน้ำโขง-ประกาศไม่เอาเขื่อนอีกแล้ว
ครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้งทั่วไป ชวนเช็กความคืบหน้านโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้
การเซ็นสัญญาซื้อไฟจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะตามมาด้วยการที่ภาครัฐจะต้องจ่ายค่า FiT หรือเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่รัฐจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตจาก JustPow ต่อคำชี้แจงของ สนพ. กรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

จากการที่ภาครัฐมีการลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบแรก  5,200 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 3 สัญญา ในวันที่

รมว.พลังงานแจง ไม่มีอำนาจชะลอเซ็นสัญญาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก

“ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 และรัฐมนตรีพลังงานไม่มีอำนาจใน กกพ. เลย ส่วน กฟผ. นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจแค่กำกับ” ศศิกานต์​ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำชี้แจงของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในประเด็นเรื่องโครงการซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 20 เมษายน 2568 จากกรณีโครงการประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าในส่วนของโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในวันที่ 19 เมษายน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น โดยก่อนหน้านี้ มีโครงการที่ กฟผ. เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และเซ็นสัญญาแล้ว 67 โครงการ และมีการเปิดเผยว่าในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา มีการลงนามเพิ่มอีก 3 สัญญา โดยยังเหลือที่ยังไม่ได้ลงนามอีก 16 สัญญา โดยกล่าวว่าที่ต้องลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้านั้นมาจากการที่มีเงื่อนไขกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย […]

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อรัฐบาลเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก

การเซ็นสัญญาซื้อไฟจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะตามมาด้วยการที่ภาครัฐจะต้องจ่ายค่า FiT หรือเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่รัฐจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ลดค่าไฟ อย่าตัดแค่ค่า Adder/FiT : JustPow เสนอถ้าตัดค่าความพร้อมจ่ายด้วย ค่าไฟจะเหลือ 3.64 บาท/หน่วย

ในช่วงต้นปี 2568 รัฐบาลเดินหน้าลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผ่านมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับค่าไฟฟ้าเรียกเก็บสำหรับรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย ลดลงจากงวดก่อนหน้า 3 สตางค์/หน่วย โดยยืดการจ่ายหนี้ค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซฯ ของ กฟผ. และ ปตท. ที่สะสมอยู่จำนวน 85,226 ล้านบาท ออกไปก่อน ความพยายามที่จะลดค่าไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยเน้นย้ำที่จะช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในฐานะผู้ช่วยหาเสียของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568  ประกาศถึงความตั้งใจที่จะลดค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.70 บาท/หน่วยให้ได้  เพื่อตอบรับนโยบายลดค่าไฟฟ้านี้ ในวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ประชุม กกพ. ได้มีมติเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ทบทวน และปรับปรุงต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ซึ่งประกอบด้วย โครงการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน […]