Search

อินโฟกราฟิก

สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2529-2566

เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับต้นทุนค่าไฟฟ้า หากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่เราใช้มากถึง 40-72% มาจากเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซฟอสซิล ก๊าซฟอสซิล รวมถึงก๊าซเหลวแอลเอ็นจี (LNG) ที่ประเทศไทยใช้จัดเป็นหนึ่งในพลังงานฟอสซิล ในภาวะโลกร้อนและภาวะโลกรวน และการที่ไทยมีเป้าหมายว่าปี 2608 (2065) จะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 62% ของก๊าซคาร์บอนฯ ที่มาจากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่ประเทศไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร ในเมื่อการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพิงฟอสซิลเป็นหลัก เช่น ในปี 2566 ไฟฟ้าที่ผลิตได้มาจากการใช้พลังงานฟอสซิล 71.9% ประกอบด้วยก๊าซฟอสซิล 58% ถ่านหิน 13.5% และดีเซล 0.4% โดยที่ยังไม่นับรวมไฟฟ้าที่ซื้อจากประเทศลาวที่มีสัดส่วน 14.7% (ในจำนวนนี้ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อน) ขณะที่มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศ 3% และพลังงานหมุนเวียน 10.4% ที่ผ่านมา เรามีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่ตั้งเป้าว่าในปี 2564 จะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ 25% ของการใช้พลังงานของประเทศ โดยมีการทำแผนตั้งแต่ปี 2554 ผลปรากฏว่าในปี 2566 ประเทศไทยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 10.4% เท่านั้น

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง และการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ส่งผลให้รัฐอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าของทั้งรัฐและเอกชนมากเกินความจำเป็น ขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วก็ไม่ได้เดินเครื่องอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากการใช้ไฟจริงน้อยกว่ากำลังการผลิตที่มีในระบบมาก  แต่ในขณะเดียวกัน ทุกๆ ปี รัฐก็ยังเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มมาโดยตลอด จากข้อมูลจะเห็นว่า ปี 2559 มีกำลังการผลิตอยู่ 41,556 เมกะวัตต์ แต่ในขณะเดียวกันมีกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเพียง 21,486 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า ยังมีโรงไฟฟ้าผลิตเพิ่มได้อีก 20,070 เมกะวัตต์ แต่รัฐยังเดินหน้าเซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวน 24 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวมอีก 6,299 เมกะวัตต์ เงินที่ต้องจ่ายไปกับการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีกำลังในระบบเกินพอ ก็กลับมาอยู่ในบิลค่าไฟของเราทุกคน นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญคือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าถูกจัดให้เป็น ‘ความลับ’ ของภาครัฐและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้สัญญาจะผูกพันและสร้างภาระให้กับประชาชนระยะยาว 15-35 ปีก็ตาม ประชาชนจะทราบข่าวก็ต่อเมื่อมีการลงนามซื้อขายในสัญญาไปแล้ว แม้จะมีการเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยรายละเอียดสัญญา แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคยิ่งห่างไกลจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าไฟของเราเอง

ค่าความพร้อมจ่าย ที่ต้องจ่ายแม้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องไม่เต็มกำลัง

แต่ละปีมีค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น ปี 2566 ที่ผ่านมา กฟผ. ต้องจ่ายเงินซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ประมาณ 484,615  ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยค่าพลังไฟฟ้า (CP) ค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) โดยค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) จะจ่ายเมื่อมีการเดินเครื่องเท่านั้น แต่กลับพบว่า กำลังไฟฟ้าที่เอกชนผลิตป้อนเข้าสู่ระบบนั้นมีการผลิตเพียง 47.7% ซึ่งเป็นผลจากการเดินเครื่องไม่เต็มกำลัง เพราะเราไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตที่มีในระบบ แม้จะได้ไฟไม่เต็มตามกำลังการผลิต แต่เนื่องจากสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากำหนดให้เราต้องจ่ายค่าพลังไฟฟ้า (CP) และค่าความพร้อมจ่าย (AP) ในราคาเต็ม ซึ่งเท่ากับว่า เมื่อคำนวณแล้วเราสูญเสียเงินในปี 2566 ให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เฉลี่ยราว 49,294 ล้านบาท จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ในปีที่ผ่านๆ มา โรงไฟฟ้าเอกชนไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ ทำให้คนไทยต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ได้ผลิตทุกๆ ปี โดยในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ไปแล้วประมาณ 533,197 ล้านบาท ซึ่งภาระก้อนนี้นี่เองที่ถูกผลักเข้ามาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา และนอกจากค่าใช้จ่ายข้างต้น ยังมีแนวโน้มว่า เรายังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายในอนาคตมากกว่าเดิมมาก […]

กำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ สูงกว่ากำลังการผลิตที่ควรมีในระบบ

‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ในบิลค่าไฟ มีส่วนประกอบของ ‘ค่าการผลิต’ ที่คำนวณจากสมมติฐานต่างๆ ซึ่งรวมถึง ความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วย  การที่รัฐวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนค่าการผลิตสูงขึ้น ทำให้เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้โดยไม่จำเป็นผ่านบิลค่าไฟ และการมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ค่าไฟขึ้นในทันที แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเรียกเก็บเลย หรือค่อยทยอยเรียกเก็บทีหลัง เรียกได้ว่าไม่จ่ายวันนี้ ก็ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดี เพราะถูกล็อกไว้ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากแค่ไหน ซึ่งทำให้เราต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปกติแล้ว การสำรองไฟฟ้าจะคำนวณจากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี แล้วสำรองเกินไว้อีก 15% เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่จากกราฟจะเห็นว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และสูงกว่ากำลังการผลิตที่ควรมีในระบบ ไปค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟของเราแพงเกินความจำเป็น เพราะการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศนั้น ต่ำกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบอย่างมาก เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าหลายๆ โรงที่เรามี ก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เพราะเราใช้ไฟไม่ถึง แต่เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับผู้ผลิตเอกชน กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ดี ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ และค่าใช้จ่ายนั้นก็ถูกผลักภาระมาไว้ในบิลค่าไฟของเราทุกคน

ค่าไฟฟ้า ปี 2525-2567 และการเข้ามาของค่า FT

บิลค่าไฟที่เราจ่าย = ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + ค่าบริการรายเดือน (แตกต่างตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า)