การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยใช้ราคาจากระบบ Pool Gas ที่ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่ต้องนำเข้า โดยประเทศไทยเริ่มนำเข้าก๊าซ LNG มาตั้งแต่ปี 2554
ระยะแรก สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมากที่สุด ราว 70-80% อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมา แหล่ง JDA และ LNG รวม 20% โดยที่ช่วงเวลานั้นราคาก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยอยู่ที่ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จนปี 2565 มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงเหลือ 62% ส่วนปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38% ในจำนวนนี้เป็น LNG ถึง 22% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเดิมผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น นอกจากนั้น ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ยังถูกส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยราคา Gulf Gas ซึ่งถูกกว่าราคา Pool Gas
ขณะที่ไทยต้องใช้ LNG มากขึ้น แต่ราคาของ LNG ก็ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 พร้อมกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ดังนั้น ยิ่งก๊าซ LNG ที่เราต้องนำเข้ามีราคาสูง ค่าไฟก็จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย
คำถามที่สำคัญก็คือ เหตุใดคนไทยจึงไม่สามารถใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยมาคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่ามาก และยังเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน
ถ้านำราคา Gulf Gas และ Pool Gas มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นส่วนต่าง จะพบว่า หากคนไทยสามารถใช้ราคา Gulf Gas ในการผลิตไฟฟ้า ในแต่ละปี เราจะสามารถประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ทำไฟฟ้าได้ อย่างเช่นในปี 2565 เราจะสามารถประหยัดไปได้ถึง 68,474 ล้านบาท และนั่นจะทำให้บิลค่าไฟของเราทุกคนถูกลง