Search

ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้า

การใช้ไฟฟ้าพีค 34,443.1 MW ไม่ว่าจะพีคแค่ไหนแต่สำรองไฟก็ยังล้นเกิน

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่าทำไมมันร้อนเหมือนซ้อมลงนรกได้ขนาดนี้ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือบิลค่าไฟที่ทะลุเดือดไม่ต่างกับอากาศ เพราะต้องเปิดแอร์ฉ่ำๆ เพื่อดับร้อน  จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ ถือเป็นการทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ซึ่งเคยทำไว้ที่ 34,130.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะมีพีคอีกรอบ แม้ว่าจะเกิดตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ในระบบการไฟฟ้า เพราะตัวเลขนี้ยังห่างไกลจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ เพราะมีการสำรองไฟฟ้าไว้สูงจนถึงขั้นล้นเกิน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ อยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 43.92% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ฟังดูประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานดีสุดๆ ใช้ไฟพีคแค่ไหน ก็ยังมีไฟล้นเหลือสำรองไว้ ไม่ต้องกลัวว่าเปิดแอร์มากแค่ไหน ไฟในประเทศจะไม่พอ แต่รู้ไหมว่า ที่สำรองไว้จนล้นเกินน่ะ ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมันบวกอยู่ในบิลค่าไฟเราแล้ว  หลายคนคงคิดว่า อ้าว…แล้วจะไม่สำรองไฟเลยเหรอ ถ้าไม่พอขึ้นมา ไฟดับจะทำยังไง […]

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง และการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ส่งผลให้รัฐอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าของทั้งรัฐและเอกชนมากเกินความจำเป็น ขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วก็ไม่ได้เดินเครื่องอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากการใช้ไฟจริงน้อยกว่ากำลังการผลิตที่มีในระบบมาก  แต่ในขณะเดียวกัน ทุกๆ ปี รัฐก็ยังเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มมาโดยตลอด จากข้อมูลจะเห็นว่า ปี 2559 มีกำลังการผลิตอยู่ 41,556 เมกะวัตต์ แต่ในขณะเดียวกันมีกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเพียง 21,486 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า ยังมีโรงไฟฟ้าผลิตเพิ่มได้อีก 20,070 เมกะวัตต์ แต่รัฐยังเดินหน้าเซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวน 24 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวมอีก 6,299 เมกะวัตต์ เงินที่ต้องจ่ายไปกับการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีกำลังในระบบเกินพอ ก็กลับมาอยู่ในบิลค่าไฟของเราทุกคน นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญคือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าถูกจัดให้เป็น ‘ความลับ’ ของภาครัฐและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้สัญญาจะผูกพันและสร้างภาระให้กับประชาชนระยะยาว 15-35 ปีก็ตาม ประชาชนจะทราบข่าวก็ต่อเมื่อมีการลงนามซื้อขายในสัญญาไปแล้ว แม้จะมีการเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยรายละเอียดสัญญา แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคยิ่งห่างไกลจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าไฟของเราเอง

กำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ สูงกว่ากำลังการผลิตที่ควรมีในระบบ

‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ในบิลค่าไฟ มีส่วนประกอบของ ‘ค่าการผลิต’ ที่คำนวณจากสมมติฐานต่างๆ ซึ่งรวมถึง ความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วย  การที่รัฐวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนค่าการผลิตสูงขึ้น ทำให้เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้โดยไม่จำเป็นผ่านบิลค่าไฟ และการมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ค่าไฟขึ้นในทันที แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเรียกเก็บเลย หรือค่อยทยอยเรียกเก็บทีหลัง เรียกได้ว่าไม่จ่ายวันนี้ ก็ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดี เพราะถูกล็อกไว้ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากแค่ไหน ซึ่งทำให้เราต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปกติแล้ว การสำรองไฟฟ้าจะคำนวณจากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี แล้วสำรองเกินไว้อีก 15% เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่จากกราฟจะเห็นว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และสูงกว่ากำลังการผลิตที่ควรมีในระบบ ไปค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟของเราแพงเกินความจำเป็น เพราะการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศนั้น ต่ำกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบอย่างมาก เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าหลายๆ โรงที่เรามี ก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เพราะเราใช้ไฟไม่ถึง แต่เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับผู้ผลิตเอกชน กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ดี ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ และค่าใช้จ่ายนั้นก็ถูกผลักภาระมาไว้ในบิลค่าไฟของเราทุกคน