Search

ร่วมส่งเสียง #ค่าไฟต้องแฟร์

กลไกค่าไฟฟ้า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีความไม่เป็นธรรมหลายประการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส การวางแผนกําลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และการกําหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มค่าครองชีพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ซึ่งประกอบด้วย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand), องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), มูลนิธิอันดามัน (Save Andaman Network), กรีนพีซ ประเทศไทย, โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย (JET), บริษัท เก็บตะวัน จำกัด, ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงชวนบุคคล องค์กร และผู้ที่สนใจ ร่วมกันลงชื่อจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อเสนอต่อนโยบายพลังงานเพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อนโยบายพลังงานของรัฐบาลใหม่ มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าให้ถูกลง เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย

5 ข้อเรียกร้องเพื่อ #ค่าไฟต้องแฟร์ ได้แก่

1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน

2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และครอบคลุมทั้งประเทศ

3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล

4. พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่

5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากพม่า ไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ

ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอ #ค่าไฟต้องแฟร์ได้ที่ https://www.energy-justice-thailand.com 

อ่านจดหมายฉบับเต็มที่ https://drive.google.com/file/d/15qGWCJRH8G7HDZhgZbY1LSKN8aJvvgSg/view 

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตจาก JustPow ต่อคำชี้แจงของ สนพ. กรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

จากการที่ภาครัฐมีการลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบแรก  5,200 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 3 สัญญา ในวันที่

รมว.พลังงานแจง ไม่มีอำนาจชะลอเซ็นสัญญาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก

“ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 และรัฐมนตรีพลังงานไม่มีอำนาจใน กกพ. เลย ส่วน กฟผ. นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจแค่กำกับ” ศศิกานต์​ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำชี้แจงของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในประเด็นเรื่องโครงการซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 20 เมษายน 2568 จากกรณีโครงการประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าในส่วนของโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในวันที่ 19 เมษายน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น โดยก่อนหน้านี้ มีโครงการที่ กฟผ. เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และเซ็นสัญญาแล้ว 67 โครงการ และมีการเปิดเผยว่าในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา มีการลงนามเพิ่มอีก 3 สัญญา โดยยังเหลือที่ยังไม่ได้ลงนามอีก 16 สัญญา โดยกล่าวว่าที่ต้องลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้านั้นมาจากการที่มีเงื่อนไขกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย […]

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อรัฐบาลเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก

การเซ็นสัญญาซื้อไฟจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะตามมาด้วยการที่ภาครัฐจะต้องจ่ายค่า FiT หรือเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่รัฐจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

สรุปประเด็น ‘ค่าไฟแพง’ ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’  24 มี.ค. 2568

ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’ วันที่ 24 มีนาคม 2568 มีการกล่าวถึงนโยบายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ค่าความพร้อมจ่าย โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แผน PDP 2024 ล่าช้า และการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหม่ในลาว