Search

นิทรรศการ ‘ปิดสวิตช์  อะไรให้ค่าไฟแฟร์ เปิดสาเหตุ อะไรทำค่าไฟแพง’ 

ในช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นทำให้คนไทยตั้งคำถามเรื่องโครงสร้างค่าไฟและสนใจในเรื่องพลังงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้า หรือโครงสร้างทางพลังงานของประเทศไทยก็เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างมาก อีกทั้งยังเต็มไปการผูกขาดทั้งทางข้อมูล แนวคิด และอำนาจในการวางแผนตัดสินใจจากภาครัฐ 

ขณะเดียวกันในแต่ละปี ภาครัฐก็จะมีแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดไฟเพื่อช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือน ปรับแอร์อุณหภูมิ 26 องศา ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED รวมไปถึงการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมงในวัน Earth Hour หรือวันปิดไฟเพื่อโลก โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 

แต่นั่นคือหนทางที่จะทำให้เราจ่ายค่าไฟถูกลงอย่างยั่งยืนจริงหรือเปล่า?

คำถามนี้นำมาสู่การจัดนิทรรศการ ‘ปิดสวิตช์  อะไรให้ค่าไฟแฟร์ เปิดสาเหตุ อะไรทำค่าไฟแพง’ โดยกลุ่ม JustPow อันเป็นการร่วมกันขององค์กรที่ทำงานในด้านข้อมูล องค์ความรู้ การสื่อสารในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้ง Data Hatch, Epigram, Greenpeace Thailand, JET in Thailand และ Rocket Media Lab ระหว่างวันที่ 19-24 มีนาคม 2567 เวลาทำการ: 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร 

โดยในนิทรรศการนี้จะเปิดให้เห็นถึงสาเหตุว่าอะไรที่ทำค่าไฟในประเทศไทยนั้นมีราคาแพง ผ่านข้อมูลในแต่ละชุด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างค่า Ft ในบิลค่าไฟ ที่สุดท้ายแล้วกลายมาเป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการันตีผลกำไรให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แล้วผลักภาระมายังผู้บริโภค การเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งๆ ที่กำลังไฟฟ้าที่มีนั้นเกินพอจนทำให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วไม่ต้องเดินเครื่องเต็มศักยภาพ เพราะเราใช้ไฟไม่ถึง แต่ประชาชนคนไทยกลับจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงสาเหตุที่ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

และในนิทรรศการนี้ยังเชิญชวนให้ผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศการร่วมตัดสินใจด้วยตัวเองหลังจากที่ได้อ่านและทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นว่าอะไรทำให้ค่าไฟแพงแล้วว่า คุณจะเลือก ‘ปิด’ หรือ ‘เปิด’ อะไร เพื่อทำให้ค่าไฟเป็นธรรมสำหรับทุกคน ผ่านระบบอินเตอร์แอคทีฟในรูปแบบสวิตช์ไฟที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละบอร์ดข้อมูลในนิทรรศการ 

รวมไปถึงเกมสนุกๆ กับบอร์ดค่าไฟฟ้าในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟที่จะชวนให้ผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศการร่วมเล่นด้วยการปิดสวิตช์ไฟในแต่ละหัวข้อดูว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยให้ค่าไฟของคุณลดลงมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น การปิดไฟ 1 ชั่วโมงตามแคมเปญวัน Earth Hour หรือการสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่ม อะไรที่จะทำให้ค่าไฟของคุณถูกลงได้มากกว่ากัน 

นอกจากนี้ ในวัน Earth Hour ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2567 ยังมีการจัดเสวนา “ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร”  ในเวลา 14.00-16.00 น. ที่ชั้น L หอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยถึงประเด็นปัญหาเรื่องโครงสร้างและนโยบายทางพลังงานในประเทศไทยที่ส่งผลให้ค่าไฟแพงและไม่เป็นธรรม อุปสรรคและความท้าทายในการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องพลังงงานในประเทศไทย ทั้งในแง่ข้อมูลข่าวสารหรือการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ไปจนถึงทางออกของประชาชนว่าจะสามารถเรียกร้อง ผลักดันอะไรได้บ้าง จะต้องปิดหรือเปิดสวิตช์อะไร เพื่อจะทำให้ค่าไฟนั้นเป็นธรรมสำหรับทุกคน

โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand, จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย, กรรณิการ์ แพแก้ว นักสื่อสารภาคพลเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ณัฐพงศ์ เทียนดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท SpokeDark จำกัด และดำเนินรายการโดย พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลและงานสื่อสาร Data Hatch

รับชมได้ที่ เสวนา ‘ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร’ (youtube.com)

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

คนใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอแล้วกับโรงไฟฟ้าก๊าซ ขอโซลาร์เซลล์เต็มศักยภาพและรัฐต้องสนับสนุน

ชาวใต้เสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ชาวเหนือเรียกร้องปิดตำนาน ‘แม่เมาะ’ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว

ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

CFNT เปิดผลวิจัยประเมินมูลค่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเสวนาแผน PDP 2024

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จนกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets)

ชวนโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024

เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย