Search

ร่างแผน PDP2024 ที่ควรจะเป็นในความคิดเห็นของชาวภาคตะวันออก 

ชาวตะวันออกเรียกร้องการทำแผน PDP ที่มีส่วนร่วมจากประชาชน หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะโรงไฟฟ้าล้นเกินแล้ว ส่วนโรงที่เซ็นไปแล้วให้ชะลอการจ่ายไฟเข้าระบบ เจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายกับโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่อง และภาครัฐต้องสนับสนุนประชาชนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์คนละครึ่ง 

18 มิ.ย.67 ณ ห้องประชุมบางปะกง โรงแรมที วินเทจ บางคล้า (T Vintage Hotel) จ.ฉะเชิงเทรา แสงสุรีย์ พาวเวอร์, กลุ่มพลังงานสะอาดระยอง, JustPow และเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่ยุติธรรม ร่วมกันจัดเวที “PDP2024 รับฟังกันแบบใดห์ : เสียงคนตะวันออกอยู่ตรงไหนในสมการ?” เพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 หรือร่างแผนพีดีพี 2024 (PDP 2024)

โดยในงานเริ่มต้นด้วยเวิร์กช็อปฐานการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างพลังงานไทยและทำไม  #ค่าไฟแพง ต่อด้วยเวทีเสวนา “แผนพีดีพี 2024 : สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น” ซึ่งในเวทีภาคตะวันออกนี้มีผู้ร่วมเสวนาทั้ง กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก, สมพร เพ็งค่ำ CHIA Platform, กมลลักษณ์ สุขพลี กลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ และณรงค์ชัย เหมสุวรรณ Kohjik Recharge Station

กัญจน์ ทัตติยกุล เล่าให้เห็นภาพที่มาของภาคตะวันออกในการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และกลายมาเป็นภูมิภาคที่มีโรงไฟฟ้ามากที่สุดของประเทศ ซี่งภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าภาคตะวันออกกลับไม่ได้อยู่ในแผนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผน PDP2024 ครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่าแผน PDP ที่ผ่านมา เป็นกระบวนการจัดทำแบบรวมศูนย์จากส่วนกลาง แต่คนในภูมิภาคต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบกลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการจัดทำแผน PDP เลย 

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ สมพร เพ็งค่ำ จากสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน (CHIA Platform) ที่กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแผนพัฒนาพลังงานอยู่ เรารู้อีกทีก็มีโรงไฟฟ้ามาตั้งที่บ้านเราแล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนกำหนด ประชาชนไม่เคยอยู่ในสมการ” ไม่เพียงแค่นั้น จากการที่สมพรซึ่งทำงานด้านการปฏิรูประบบสุขภาพและเคยรับเรื่องร้องเรียนกรณีผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้ามาก่อน ยังกล่าวว่า ในการจัดทำแผน PDP มักจะพูดถึงแต่ความมั่นคงด้านพลังงาน พูดถึงแต่การเติบโตเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของคน และไม่นำเอาประเด็นเรื่องนี้มาใช้เป็นปัจจัยในการวางแผน ทั้งๆ ที่ความมั่นคงของชีวิตประชาชนต่างหาก ที่ควรจะถูกสนใจและบรรจุอยู่ในแผน PDP ด้วย ที่สำคัญควรจะต้องมีทางเลือกให้ประชาชนด้วย

จากนั้น กมลลักษณ์ สุขพลี กลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ ยังสะท้อนปัญหาในฐานะผู้ใช้ไฟว่าปัจจุบันค่าไฟแพงจนเหมือนคนไทยต้องทำงานมาเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าไฟเท่านั้น ทั้งๆ ที่ ประเทศมีไฟฟ้าสำรองเกินจนสามารถขายไฟได้ ไม่เพียงแค่นั้นการทำแผน PDP ที่พยายามจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานแต่กลับพบว่ายังมีพื้นที่ที่แม้จะอยู่ใกล้กับเขื่อนขุนด่านปราการชล แต่ไม่มี น้ำ ไฟ ใช้  ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำแผน PDP ไปทำไมเมื่อความมั่นคงทางพลังงานเข้าไม่ถึงทุกคน

และสุดท้ายกับ ผู้ใหญ่แต๊ก – ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะจิก จ.จันทบุรี (ทีมเกาะจิก รีชาร์จ สเตชั่น) ตัวอย่างชุมชนที่ต้องช่วยเหลือตัวเองเนื่องด้วยไฟเข้าไม่ถึง ด้วยการใช้โซลาร์เซลล์ จนสามารถพึ่งพาได้ด้วยโซลาร์เซลล์ ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของภาครัฐที่ไม่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์เท่าที่ควร โดยได้ยกตัวอย่างบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรการสนับสนุนประชาชนที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐถึง 40% ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเลยทีเดียว ในขณะที่ประเทศไทย อย่างชุมชนเกาะจิกเอง ประชาชนกลับต้องขวนขวายและทำสิ่งนี้ด้วยทุนตัวเอง 

นอกจากนี้ ในช่วงการให้ความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 และการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอจากพื้นที่ภาคตะวันออก ยังพบว่า ในประเด็นเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยเบื้องต้น ชาวภาคตะวันออกมีข้อเสนอในระยะเร่งด่วนให้ภาครัฐขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไป เปิดเผยข้อมูลร่างแผน PDP2024 ที่ละเอียดและให้ข้อมูลมากกว่านี้เพื่อให้ประชาชนศึกษาทำความเข้าใจ และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากพื้นที่จริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากแผน PDP ที่ผ่านมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปรวมอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วย

ในขณะที่ระยะยาว ชาวตะวันออกก็มีข้อเสนอว่า ในกระบวนการจัดทำแผน PDP ก็ควรจะมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการอยู่ในกระบวนการการจัดทำแผน PDP ด้วย และกระบวนการทำแผน PDP ก็ไม่ควรคิดเฉพาะเรื่องการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วย 

ในส่วนของโครงสร้างทางพลังงาน ชาวภาคตะวันออกเห็นว่า เนื่องด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของเรามีสูงมาก และมีไฟฟ้าสำรองรวมไปถึงโรงไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว จึงเสนอให้ 1. หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ 2. ที่เซ็นไปแล้ว ขอให้เจรจาเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ออกไปก่อน และ 3. สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบ ขอให้เจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายกับโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่อง

และในส่วนของพลังงานหมุนเวียนนั้น ชาวภาคตะวันออกเสนอให้รัฐสนับสนุนการติดโซลาร์เซลล์ของประชาชนมากกว่านี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว โดยควรมีนโยบายทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน 50% หรือมีกองทุนกู้ยืมระยะยาวและดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และให้สนับสนุนการประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้สามารถขายไฟคืนแก่ภาครัฐให้ได้มากกว่านี้ และมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากและล่าช้าเหมือนทุกวันนี้ โดยเฉพาะการให้มีระบบ Net Metering และ Smart Grid

โดยความคิดเห็นของชาวตะวันออกต่อร่างแผน PDP2024 และข้อเสนอจากพื้นที่ภาคตะวันออก อย่างละเอียดและครบถ้วนจากเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 ภาคตะวันออก จะถูกจัดทำและนำเสนออย่างสมบูรณ์อีกครั้งในเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 ที่จะจัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ในวันที่ 31 ก.ค. 67 ณ หอศิลปกรุงเทพ พร้อมกันกับความคิดเห็นและข้อเสนอที่ได้จากเวทีในภาคอื่นๆ รวมทุกภูมิภาคของประเทศไทย

JustPow ขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟทุกภาคทั่วประเทศร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ โดยสามารถเข้าไปโหวตได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6 ซึ่งประเด็นในการโหวตความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 นี้มาจากประเด็นที่อยู่ในเอกสาร “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ซึ่งจัดทำโดย JustPow https://justpow.co/project-ebook-pdp/   

ข่าวยอดนิยม

ชาวบ้านตามุยประกอบพิธีเชิงสัญลักษณ์ ปกป้องน้ำโขง-ประกาศไม่เอาเขื่อนอีกแล้ว
ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งที่แผน PDP สำคัญระดับชาติ กำหนดทิศทางไฟฟ้าประเทศ
เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

สรุปประเด็น ‘ค่าไฟแพง’ ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’  24 มี.ค. 2568

ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’ วันที่ 24 มีนาคม 2568 มีการกล่าวถึงนโยบายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ค่าความพร้อมจ่าย โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แผน PDP 2024 ล่าช้า และการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหม่ในลาว

เมื่อความมั่นคงทางพลังงานเป็นมากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

สำรวจและทำความเข้าใจความหมายเบื้องต้นของความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงประเทศไทยมีจุดยืนเป็นอย่างไรในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน

ปัญหาของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 

สำรวจความเป็นมาของโครงการฯ พร้อมดูว่ากลุ่มบริษัทไหนได้โควต้าบ้าง

การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก?

พีรยา พูลหิรัญ และธัญญาภรณ์ สุรภักดีโครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย (JET in Thailand) ‘การรับมือกับวิกฤติโลกเดือด’