Search

จับตาแผน PDP ฉบับใหม่ ต้องเป็นยังไงค่าไฟถึงจะถูกลง

จาก “รายการฟังเสียงประเทศไทย” ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2024 ซึ่ง JustPow มีโอกาสนำนิทรรศการ ‘ปิดสวิตช์ อะไรให้ค่าไฟแฟร์ เปิดสาเหตุ อะไรทำค่าไฟแพง’ ไปร่วมจัดแสดง โดยในงานครั้งนี้ ยังมีวงเสวนา “จับตาแผน PDP ใหม่ ราคาอะไรที่ประชาชนต้องจ่าย?” โดยได้ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization และ ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค มาร่วมเสวนา พร้อมกับตัวแทนประชาชนผู้ใช้ไฟจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาพลังงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนาครั้งนี้ด้วย

โดยสิ่งที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากเห็นในแผน PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาในปีนี้คือ 

“สิ่งที่เราอยากจะเห็นมากที่สุดในแผน PDP ฉบับหน้า คือ 1. อยากเห็น PDP ฉบับหน้ามีการกำหนดโควตาไฟฟ้าภาคประชาชน ปี 2030 ขอ 5,000 เมกะวัตต์ ปี 2035 ขอ 10,000 เมกะวัตต์ ต้องมีแผนกำหนดแบบนี้ไปจนถึง 20 ปี 2. ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ทันที 3. ลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ 4. เราต้องการเห็นการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ไม่สูงเกินจริง การทำแบบนั้นท้ายสุดจะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าล้นเกินไม่จบสิ้น 5. เราอยากเห็นการพัฒนาระบบการจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ smart grid การพัฒนาสายส่ง การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะมากขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า”

นอกจากนั้น รศ.ดร.ชาลี ยังกล่าวถึงการจัดทำแผน PDP ว่า 

“ปกติแผน PDP จะถูกทำโดย สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) แล้วก็จะชงเข้า กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) จากนั้นก็ส่งไปที่ กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถ้า กพช. เห็นชอบแล้วจึงจะส่งเข้า ครม. และกลายมาเป็นแผนพลังงานชาติ โดยหนึ่งในนั้นมีแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า หรือ PDP รวมอยู่ด้วย

“อย่างน้อยเราควรมีแผนพลังงานชาติทุกๆ 3 ปี ซึ่งแผนล่าสุดของเราคือ PDP 2018 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ซึ่งถ้าเป็นไปตามปกติ PDP ฉบับถัดไปคือปี 2021 แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่ามันข้ามมาปี 2024 เลย แผน PDP ที่หายไปนอกจากเราจะเสียโอกาสแล้ว ทั้งในการพัฒนาพลังงานสะอาด เราไม่สามารถปรับแผนกำลังพัฒนาของประเทศเพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้ มากไปกว่านั้นเรายังยึดแผนก่อนโควิดในการใช้งาน การคำนวณการคาดการณ์ต่างๆ ไม่รวมผลจากโควิด ทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ฯลฯ ไม่ได้เอามาคำนวณร่วมด้วย ผลที่ตามมาก็คือเราจึงมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากเกิดขึ้นเรื่อยๆ และบางโรงไฟฟ้าก็มีการเดินเครื่องผลิตไม่เต็มศักยภาพ แต่เราต้องจ่ายค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสัญญาการซื้อไฟเต็มจำนวนซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ในบิลค่าไฟของเราทุกคน 

“โรงไฟฟ้าเหล่านี้รวมกันอาจจะทำให้ค่าไฟเราแพงขึ้น 20 สตางค์/หน่วย และเรายังมุ่งหน้าสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่อยู่ ปีที่แล้วก็ยังมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่ฉะเชิงเทราอยู่เลย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซฟอสซิล เป็นพลังงานที่แพงที่สุดในพลังงานที่เรามี สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะแผน PDP และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ไม่มีกฎหมายลงโทษ 

“แผน PDP ทุกฉบับพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป สูงเกินกว่าความต้องการจริงมาก โดยภาครัฐมักจะให้เหตุผลว่าเพราะโรงไฟฟ้าสร้างนาน เดี๋ยวจะไม่ทันต่อความต้องการ แล้วก็อ้างว่าที่เราใช้ไฟน้อยเพราะเป็นช่วงโควิด แต่พอโควิดหายเราก็ยังใช้ต่ำกว่าที่เขาคาดไว้อยู่ดี แผน PDP 2018 มันล้าสมัยไปอย่างมาก และควรจะยกเลิกไปได้แล้ว

“ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้การไฟฟ้ามาทำแผน PDP ประเทศไทยแปลกมากที่ให้ กฟผ. เป็นตัวตั้งต้นร่างแผน PDP กับคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ จะมีทางไหมครับที่ กฟผ. จะเขียนแผนลดความสำคัญของตัวเองลงเรื่อยๆ เพราะในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจะกระจายตัวไปตามหลังคาบ้านคน กฟผ. จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ มันไม่มีทางเลยครับว่าแผน PDP ที่สอดคล้องกับอนาคตจะมาจาก กฟผ.ได้ มันเหมือนกับการเขียนแผนลดการสูบบุหรี่แล้วให้โรงงานผลิตบุหรี่มาเป็นคนเขียน มันไม่มีทางเกิดแผน PDP ที่ดีได้มาแต่ต้น 

“ประเทศอื่นที่เขาทำ PDP ออกมา เขามี think tank องค์กรอิสระที่มีความคิดเชิงกลยุทธ์ มองประเทศระยะยาว ใช้วิจัยเป็นฐาน ท้ายสุดมีแผน PDP ที่ภาคการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ มีแผน PDP ที่ต่อเนื่องได้ ทำไมเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้บ้าง เรากลับใช้ข้าราชการในบางกระทรวงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไปนั่งในคณะกรรมการ PDP ผลเลยออกมาเป็นแบบนี้”

ขณะที่ อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงานและ Grid Modernization กล่าวว่า 

“ภาคอุตสาหกรรมต้องดิ้นรนเพื่อให้มีพลังงานสะอาดเพียงพอ ภายใน 3-4 ปี หากไม่มีพลังงานสะอาดเกินครึ่งก็เตรียมปิดโรงงานได้แล้ว เพราะว่าผู้ซื้อเขาไม่ซื้อ เราทำสินค้า OEM (Original Equipment Manufacturer – การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะนำไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) ไปประกอบชิ้นส่วน ต้นทางเขาสั่งมาเลย คาร์บอนฟุตปรินต์เท่าไหร่ ถ้าเกิน เขาก็ไม่สั่ง เรื่องนี้ภาคอุตสาหกรรมเจอใกล้ตัวมากที่สุด ไทยก็เจอปัญหานี้เยอะมาก เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีกฎกระทรวงกีดกัน ต้องใช้พลังงานที่เขามีให้ ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิล แต่ถ้าไม่ใช้ก็เดินต่อไปไม่ได้ พื้นที่มีแค่นี้จะติดโซลาร์มากกว่านี้ยังไง ข้อจำกัดมันมากเหลือเกิน เรื่องนี้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักกันมาก แต่ยังไม่มากพอ เพราะขนาดกลางและเล็กยังไม่ทราบกันเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่มี solution ให้เขาด้วย เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อคลี่คลายเรื่องนี้ให้ได้”

นอกจากนี้ อาทิตย์ยังให้ความเห็นถึงปัญหาทางด้านกฎหมายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเจอ ที่ทำให้การเดินทางไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความยากลำบาก

“เราค้นพบว่าเรามีกฎกระทรวง กฎระเบียบต่างๆ เป็นอุปสรรคในการคุมกำเนิดพลังงานสะอาดเยอะมาก เช่น จะทำโซลาร์ต้องไปขอใบอนุญาต รง.4 ใบอนุญาตตั้งโรงงาน คนก็งงว่าเทคโนโลยีมันไม่ได้ดีกว่าตู้เย็นเลย ถ้าเกิดเราจะทำโซลาร์เกิน 200 กิโลวัตต์ โซลาร์ฟาร์มต้องไปขออนุญาต เราเจอปัญหาแบบนี้เยอะ พอจะไปตั้งโรงงานก็มีกฎหมายอีกฉบับบอกว่า โรงงานจะตั้งได้เฉพาะในพื้นที่สีม่วงเท่านั้น พื้นที่สีม่วงในไทยมี 5% จากทั้งประเทศ แค่กฎหมายฉบับนี้ก็คุมกำเนิดได้แล้ว โซลาร์ที่ไม่อยู่บนหลังคา หรืออยู่บนหลังคา แต่เกิน 1 กิโลวัตต์ ก็ต้องอยู่บนพื้นที่สีม่วง คือคุมกำเนิดไปแล้ว 95% ของพื้นที่แล้ว ถ้าไม่เจาะลึกลงไปก็จะไม่เห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นซึ่งมีอยู่มากมาย 

“เราทำโซลาร์ติดบนบ้านเรา หรือโรงงาน ถ้าช่วงไหนแดดดี เราผลิตได้เยอะ แต่ภายในบ้านเราใช้ไฟน้อยลง ทั่วโลกบอกว่าพลังงานสะอาดแบบนี้ควรสงวนไว้ รับกลับเข้า grid ไปแล้วชดเชยจ่ายมาเป็นเงินก็ว่าไปตามความเหมาะสม ไม่ควรจะทิ้ง แต่ประเทศไทยบอกให้ทิ้ง ไม่อนุญาตให้รับกลับ ถามว่าทำไม บอกว่าเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพพลังงาน ตอบแบบนี้มา 15 ปีแล้ว ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ พอถามไปอีกก็บอกว่ายังไม่มีนโยบาย เรื่องที่ขัดขวางให้เราทำไม่ได้มีเยอะมาก เรายังต้องไล่แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปเรื่อยๆ 

“การจัดการไฟฟ้าของไทยถูกออกแบบมากว่า 25 ปีแล้ว เมื่อตอนที่เขาออกแบบ เขาอุ้มผู้ลงทุนพลังงาน กลัวจะไม่มีใครมาลงทุน มันเป็นไม่กี่ธุรกิจที่ผู้ลงทุนจะไม่ขาดทุน เพราะค่าไฟที่เราจ่ายทุกวันนี้ คำนวณมาจากต้นทุนพลังงานที่ลอยเรือมา ก่อนหน้านี้ไปขุดจากอ่าวไทย ไปแย่งใช้กับปิโตรเคมี ตอนนี้มันน้อยลงก็ต้องลอยเรือมา ไม่ว่าเขาจะซื้อแก๊สมาเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครขาดทุน พอแก๊สส่งมาให้โรงไฟฟ้า ค่าลงทุน ค่าขนส่งต่างๆ บวกๆ แล้ว ตอนจบคือ ราคาค่าไฟที่เราจ่าย ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ไม่มีทางขาดทุน เพราะคนซื้อไฟอย่างประชาชนไม่มีทางเลือก จะขายเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ คือมันไม่มีการแข่งขัน มันถูกกำหนดมาหมด เราต้องจำนนต่อการใช้ระบบแบบนี้

ในส่วนของแผน PDP นั้น อาทิตย์มีความคิดเห็นว่า “เราอยากให้แผนพลังงานแห่งชาติออกมาจากประชาชนและเอกชนจริงๆ เพราะที่ผ่านมาอยู่ในมือของรัฐมาโดยตลอด มันไม่ครอบคลุมพอ ตั้งแต่ PDP 2018 เราไปให้ความคิดเห็น จนออกมาเป็น PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เราให้ความเห็น และคัดค้านมาตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเลย เวลาเขาเอาโจทย์มาให้ก็มีเวลาแค่ 7 วัน และรับฟังเฉพาะในห้อง และได้พูดคนละ 10 นาที การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมันเลยไม่ครบถ้วน เราก็เลยคิดว่าก่อนที่เขาจะออกฉบับใหม่ เราจึงต้องทำ PDP ฉบับของเราไปเป็นข้อเสนอ ทำอย่างละเอียด ทำการศึกษาครบทุกด้าน เอาตัวนี้เป็น benchmark แล้วส่งให้ภาครัฐไปแล้วด้วย หวังว่าเขาจะไม่มีข้ออ้างว่าไม่เห็นตรงนี้ ไม่ทราบตรงนั้น เพราะเราแจ้งไปหมดแล้ว (ดูได้ที่ https://re100th.org/pdp2022

“และเราก็หวังว่าแผน PDP ฉบับใหม่ที่จะออกนี้จะไม่มีตัวหลอกเข้ามาล้างสมองเรา ทั้งเรื่อง carbon capture technology เรื่องไฮโดรเจน ว่าผสมกับแก๊สแล้วจะลดคาร์บอน เรื่องนี้น่ากลัวจริงๆ เพราะถ้าไปถามนักวิชาการต่างประเทศ carbon capture ตันหนึ่งเป็นร้อยเหรียญ ถ้าคิดเรื่องนี้แล้วเอามาใส่ไว้ในแผน แล้วก็ยังคงใช้ฟอสซิลต่อไป เพราะจะมี carbon capture อันนี้คือตายแน่ ตัวหลอกพวกนี้ เอาออกไปเถอะ ประชาชนเองก็ต้องช่วยกันส่งเสียงด้วย อย่าให้เขายัดฟอสซิลเอาไว้อีก

“เราต้องการให้ PDP ฉบับใหม่ นำหน้าด้วยการใช้พลังงานสะอาดอย่างมั่นคง ทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมและมีความมั่นคงทางพลังาน เราเชื่อว่าพลังงานสะอาดที่มั่นคง ผมยกตัวอย่าง โซลาร์+แบตเตอรี่ ณ วันนี้สู้ค่าไฟที่หลวงทำขายเราได้อยู่แล้ว เราพิสูจน์มาแล้ว จ่ายไฟเข้าระบบมาแล้วเป็นไฟฟ้าที่ถูกและสะอาด มั่นคง มันต้องถูกกว่าวันนี้แน่ๆ และยิ่งเวลาผ่านไป ถ้าเราเพิ่มพลังงานสะอาดแบบนี้ ค่าไฟก็ต้องถูกลงแน่ๆ ราคาค่าขนส่ง ค่าเชื้อเพลิงที่เขาขายแพง และยิ่งเวลาเกิดสงครามมันก็จะยิ่งแพง ราคาพลังงานสะอาดของเราจะไม่วิ่งตามเขาเลย เพราะมันจะได้ความนิ่งในระยะยาว ได้ความมั่นคงของราคาด้วย 

“เมื่อก่อนคิดว่าแผน PDP มันไกลตัว อย่างมากก็กระทบแค่ค่าไฟ แต่ ณ วันนี้ แผน PDP เป็นแผนที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างรุนแรง นอกจากเรื่องค่าไฟแล้ว การใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องชั่งน้ำหนักว่าจะมาลงทุนไหม เพราะมันมีคาร์บอนฟุตปรินต์ ถ้าเราไม่มีแผนพลังงานที่ชัดเจนว่าจะเพิ่มพลังงานสะอาด ลดฟอสซิล เราก็อาจจะถูกลดคำสั่งซื้อไปเรื่อยๆ จนถึงโรงงานปิด แม้ว่าเรามีสถานที่ท่องเที่ยว น่ามาเที่ยว น่าย้ายมาทำงาน แต่ถ้าไม่มีพลังงานสะอาดให้ใช้ ยังปลดปล่อยคาร์บอนอยู่ เขาก็ไม่ย้ายมา เป้าหมายของเรา เรามีโอกาส ได้เปรียบเกือบทุกอย่าง เราจะถูกทำลายด้วยเรื่องคาร์บอนเพียงเรื่องเดียวไม่ได้ เราต้องไม่ยอมให้แผน PDP ครั้งนี้มาเป็นอุปสรรคในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

“เรามีกฎหมายว่าการจะออกระเบียบราชการ กฎกระทรวงใหม่ๆ ต้องฟังเสียงประชาชน PDP ก็เช่นเดียวกัน แต่เราก็มีปัญหาในเรื่องการรับฟังเสียงประชาชนอย่างมาก เวลาประชาชนไปให้ความคิดเห็นเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ความคิดเห็นเราไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา ปรับปรุงเลย วันนี้เราอยากรณรงค์ให้ประชาชนติดตามการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของแผน PDP 2024 เราต้องตามทุกวันว่าทำอย่างไร ทำถึงไหน ทำไม่ได้เพราะอะไร ต้องออกมาให้เป๊ะทั้งหมด ไม่เช่นนั้นถ้าออกมาเป็นกฎหมายไปแล้ว ก็จะแก้ไขไม่ได้แล้ว”

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค มองถึงพลังงานในอนาคตว่า

“ถ้าเราอยากให้ค่าไฟถูกลง มันต้องใช้พลังงาน 3 ตัว คือ SWB – Solar, Wind, Battery เพราะ 3 ตัวนี้ราคาถูกมากเลย เวลาไม่มีลมก็ใช้แดด ไม่มีแดดก็เอาแบตเตอรี่มาใช้ เขาศึกษามาแล้ว ทั้ง 3 ตัวนี้ราคาลดลงกว่า 70-80% ใน 10 ปีที่ผ่านมา และจะลดลงอีก 30-40% ในอีก 10 ปีต่อไป ถามว่าแสงแดดมันไม่ยั่งยืน แสงแดดมีน้อย แต่แสงแดดที่ส่องให้เรา 1 ชม. เท่ากับพลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปี ปีหนึ่งมี 8,760 ชม. ปัญหาคือในอดีตเราเก็บไม่ได้ แต่วันนี้เรามีโซลาร์เซลล์แล้ว เมื่อแสงแดดไม่มีเราก็ใช้ลมสลับกันไป กลางวันมีแดด หัวค่ำมีลม กลางคืนใช้แบตเตอรี่ แล้ว SWB ศึกษาโดย Tony Seba ซึ่งเขาพูดเลยว่าระบบพลังงานเดิมกำลังจะเจ๊ง”

สำหรับแผน PDP ผศ.ประสาท แสดงความเห็นว่า “เหตุผลที่เขายืดแผน PDP ฉบับใหม่ออกไป ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนปีที่แล้ว เขาเพิ่งเซ็นซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาว 3 โรง ในราคา 2.9 บาทกว่า ซึ่งแพงกว่าในอดีตเยอะ เขาซื้อได้อย่างไร ซื้อได้ด้วยแผน PDP ฉบับเก่า 2018 น่ะสิ ถ้าเขาออกแผน PDP ใหม่มา แผนเก่าก็ตก เขาไม่มีอะไรจะมาอ้างในการซื้อ นี่เป็นเหตุผลที่แท้จริง เขาพยายามยื้อต่อไป ยิ่งแผนใหม่ออกช้าเท่าไหร่ก็ใช้แผนเก่า ก็จะมีการเซ็นโรงไฟฟ้าเพิ่มไปตลอดจนกว่าจะถึงปี 2580 แนวโน้วมันเป็นแบบนี้

“อย่างแผน PDP เวียดนาม เป็นแผนฉบับที่ 8 ปี 2022 เขามีวัตถุประสงค์ว่าประเทศต้องเป็นอิสระจากพลังงานอื่นๆ ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ แล้วก็ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของคนด้วย โดยหลักการ เขาจะใช้หลักประชาธิปไตยพลังงาน 5 เสาหลัก 1. มีความยืดหยุ่น อย่างตอนนี้สัญญาที่เราใช้อยู่ 25 ปี ถ้าเศรษฐกิจเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนตามไม่ได้ ถ้าไม่ซื้อก็ต้องจ่าย 2. ต้องมีประสิทธิภาพ 3. มีความเป็นธรรม 4. ควบคุมโดยคนท้องถิ่น ท้องถิ่นได้ประโยชน์ 5. Low Carbon เวียดนามเขาเขียนแบบนี้ และภายในปี 2030 จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดให้อาคารบ้านเรือนและอาคาร์พาณิชย์อย่างละ 50% ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตใช้เอง นี่คือ PDP ของเวียดนาม มันก้าวหน้ามาก

“ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาได้ที่ปรึกษาดี จาก JETPs (Just Energy Transition Partnerships) ได้รับเงินจากต่างประเทศ คุยจนตกผลึก จนออกมาเป็นแบบนี้ ที่เวียดนามในตอนนี้ โซลาร์ที่เขาซื้อจากประชาชน 2.93 บาท ส่วนไทยซื้อที่ราคา 2.20 บาท พร้อมกติกามากมายจนทำไม่ได้ และเรายังเป็น prosumer ไม่ได้ เมื่อก่อนเทคโนโลยีมันทำไม่ได้ แต่วันนี้ทำได้แล้ว รัฐไทยไม่ยอมให้เราทำ ปัญหาอยู่ตรงนี้ ฉะนั้นเราต้องทลายตรงนี้ให้ได้ เราจ่ายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขายได้ด้วย เขาทำกันแล้วในออสเตรเลีย 3.6 ล้านหลังคาเรือน ในแบบ net metering ด้วย ในเวียดนามแสนกว่าหลัง แคลิฟอร์เนีย 2 ล้านหลัง ของไทยเราไม่ได้เลย มันถูกกีดกันทุกวิถีทาง 

“ผมไปญี่ปุ่น แล้วสงสัยว่าทำไมเขามีหลังคาโซลาร์เซลล์ เขาบอกรัฐสนับสนุน 70% ปี 2565 ญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้แสนล้านหน่วย ไทยผลิตไฟฟ้าจากแก๊ส 1.1 แสนล้านหน่วย คือเท่ากันเลยนะ แต่เราใช้แก๊ส คิดเป็นเงินแล้ว 4 แสนล้านบาท รัฐพยายามทำให้เรามีส่วนร่วมโดยเป็นแค่ผู้บริโภค จ่ายเงินอย่างเดียว แต่โลกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ไฟฟ้าเราต้องเป็นผู้ผลิตและบริโภคด้วย เป็น prosumer หน้าที่ที่ท้าทายของเราคือ ทำเรื่องนี้ให้สาธารณะเข้าใจ ถ้าเราสื่อสารกันดีๆ ทำความเข้าใจกันดี มีความหวังครับ โลกนี้ไม่พัง” 

ชมบันทึกรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/X7yY2PXj8h3VMh5v/?mibextid=w8EBqM 

ข่าวยอดนิยม

เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย
ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย
ชาวบ้านตามุยประกอบพิธีเชิงสัญลักษณ์ ปกป้องน้ำโขง-ประกาศไม่เอาเขื่อนอีกแล้ว

รัฐสภายุโรปอนุมัติกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถบรรทุกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยในสาระสำคัญของกฎหมายนี้ รถบรรทุกที่ขายในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 90% กฎหมายนี้จะส่งผลให้ผู้ผลิตรถบรรทุกหรือยานยนต์สำหรับงานหนัก ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตรถที่ลดการปล่อยมลพิษมากขึ้น ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าและรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เพื่อลดสัดส่วนการจำหน่ายยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตลาดลงให้ได้ถึง 90% ในปี 2040 โดยกฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้รถไฟฟ้าให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ระหว่างทางก่อนจะถึงเป้าหมายนั้น ผู้ผลิตรถบรรทุกยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 แทน 30% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิม ทั้งยังต้องบรรลุเป้าหมายที่จะลดให้ได้ 65% ภายในปี 2035 อีกด้วย ในการลงมติเพื่ออนุมัติกฎหมายนี้ มีเพียงอิตาลี โปแลนด์ และสโลวาเกียเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงคัดค้าน ในขณะที่สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศเดียวที่งดออกเสียง โดยประเทศที่ได้รับการจับตามองในการลงมติครั้งนี้มากที่สุดประเทศหนึ่ง คือ เยอรมนี เพราะนอกจากจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ก่อนหน้านี้เยอรมนีเป็นประเทศที่พยายามเจรจาเพื่อให้ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงซึ่งผลิตจากกระแสไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ได้ นอกจากความพยายามที่จะเจรจาเรื่องเชื้อเพลิงสังเคราะห์แล้ว ยังมีเรื่องท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมของเยอรมนี ดังนั้น เพื่อให้เยอรมนีลงมติเห็นชอบในกฎหมายนี้ ทางสหภาพยุโรปได้เพิ่มบทนำที่ระบุว่า สหภาพยุโรปจะพิจารณาการบรรจุข้อกำหนดเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อนับรวมรถที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นกลางทางคาร์บอนในกรณีที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป ณ เดือนธันวาคม 2023 ระบุว่า การขนส่งสินค้าทางถนนถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าและการพาณิชย์ของทวีปยุโรป […]

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่าทำไมมันร้อนเหมือนซ้อมลงนรกได้ขนาดนี้ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือบิลค่าไฟที่ทะลุเดือดไม่ต่างกับอากาศ เพราะต้องเปิดแอร์ฉ่ำๆ เพื่อดับร้อน  จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ ถือเป็นการทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ซึ่งเคยทำไว้ที่ 34,130.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะมีพีคอีกรอบ แม้ว่าจะเกิดตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ในระบบการไฟฟ้า เพราะตัวเลขนี้ยังห่างไกลจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ เพราะมีการสำรองไฟฟ้าไว้สูงจนถึงขั้นล้นเกิน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ อยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 43.92% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ฟังดูประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานดีสุดๆ ใช้ไฟพีคแค่ไหน ก็ยังมีไฟล้นเหลือสำรองไว้ ไม่ต้องกลัวว่าเปิดแอร์มากแค่ไหน ไฟในประเทศจะไม่พอ แต่รู้ไหมว่า ที่สำรองไว้จนล้นเกินน่ะ ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมันบวกอยู่ในบิลค่าไฟเราแล้ว  หลายคนคงคิดว่า อ้าว…แล้วจะไม่สำรองไฟเลยเหรอ ถ้าไม่พอขึ้นมา ไฟดับจะทำยังไง […]

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

สรุปประเด็น ‘ค่าไฟแพง’ ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’  24 มี.ค. 2568

ใน ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร’ วันที่ 24 มีนาคม 2568 มีการกล่าวถึงนโยบายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ค่าความพร้อมจ่าย โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แผน PDP 2024 ล่าช้า และการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนใหม่ในลาว

ลดค่าไฟ อย่าตัดแค่ค่า Adder/FiT : JustPow เสนอถ้าตัดค่าความพร้อมจ่ายด้วย ค่าไฟจะเหลือ 3.64 บาท/หน่วย

ในช่วงต้นปี 2568 รัฐบาลเดินหน้าลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผ่านมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับค่าไฟฟ้าเรียกเก็บสำหรับรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย ลดลงจากงวดก่อนหน้า 3 สตางค์/หน่วย โดยยืดการจ่ายหนี้ค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซฯ ของ กฟผ. และ ปตท. ที่สะสมอยู่จำนวน 85,226 ล้านบาท ออกไปก่อน ความพยายามที่จะลดค่าไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยเน้นย้ำที่จะช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในฐานะผู้ช่วยหาเสียของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568  ประกาศถึงความตั้งใจที่จะลดค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.70 บาท/หน่วยให้ได้  เพื่อตอบรับนโยบายลดค่าไฟฟ้านี้ ในวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ประชุม กกพ. ได้มีมติเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ทบทวน และปรับปรุงต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ซึ่งประกอบด้วย โครงการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน […]

ไทยซื้อไฟจากเขื่อนไหนในลาวบ้าง

สำรวจข้อมูลเขื่อนในลาวที่ไทยไปซื้อไฟ

เสียงจากเวทีที่อุบลฯ ไม่เอาเขื่อน(เพิ่ม)ได้ไหม

เสวนา “คนอุบลเอาบ่? : น้ำท่วม เขื่อนใหม่ ค่าไฟแพง” เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 68 เนื่องในวันปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำสากล หรือวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action for Rivers : Against Dams)