Search

ยุโรปออกกฎเข้ม รถบรรทุกต้องลดการปล่อย CO2 ให้ได้ 90% ในปี 2040

รัฐสภายุโรปอนุมัติกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถบรรทุกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยในสาระสำคัญของกฎหมายนี้ รถบรรทุกที่ขายในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 90%

กฎหมายนี้จะส่งผลให้ผู้ผลิตรถบรรทุกหรือยานยนต์สำหรับงานหนัก ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตรถที่ลดการปล่อยมลพิษมากขึ้น ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าและรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เพื่อลดสัดส่วนการจำหน่ายยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตลาดลงให้ได้ถึง 90% ในปี 2040 โดยกฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้รถไฟฟ้าให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่ระหว่างทางก่อนจะถึงเป้าหมายนั้น ผู้ผลิตรถบรรทุกยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 แทน 30% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิม ทั้งยังต้องบรรลุเป้าหมายที่จะลดให้ได้ 65% ภายในปี 2035 อีกด้วย

ในการลงมติเพื่ออนุมัติกฎหมายนี้ มีเพียงอิตาลี โปแลนด์ และสโลวาเกียเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงคัดค้าน ในขณะที่สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศเดียวที่งดออกเสียง โดยประเทศที่ได้รับการจับตามองในการลงมติครั้งนี้มากที่สุดประเทศหนึ่ง คือ เยอรมนี เพราะนอกจากจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ก่อนหน้านี้เยอรมนีเป็นประเทศที่พยายามเจรจาเพื่อให้ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงซึ่งผลิตจากกระแสไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ได้

นอกจากความพยายามที่จะเจรจาเรื่องเชื้อเพลิงสังเคราะห์แล้ว ยังมีเรื่องท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมของเยอรมนี ดังนั้น เพื่อให้เยอรมนีลงมติเห็นชอบในกฎหมายนี้ ทางสหภาพยุโรปได้เพิ่มบทนำที่ระบุว่า สหภาพยุโรปจะพิจารณาการบรรจุข้อกำหนดเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อนับรวมรถที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นกลางทางคาร์บอนในกรณีที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป ณ เดือนธันวาคม 2023 ระบุว่า การขนส่งสินค้าทางถนนถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าและการพาณิชย์ของทวีปยุโรป โดยการขนส่งสินค้าทางบกในสหภาพยุโรปเกือบ 80% ใช้รถบรรทุกเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีรถบรรทุกประมาณ 6.5 ล้านคันที่ถูกจัดจำหน่ายในสหภาพยุโรป เฉพาะในปี 2022 มีการผลิตรถบรรทุกมากกว่า 5 แสนคันในสหภาพยุโรป ขณะที่รถบรรทุกหนักครึ่งหนึ่งที่ประกอบในสหรัฐอเมริกาผลิตจากโรงงานในยุโรป โดยอายุเฉลี่ยของรถบรรทุกคือ 14.2 ปี ทั้งนี้ จากรถบรรทุกใหม่ที่ขายได้ในสหภาพยุโรป มีเพียง 0.6% ที่เป็นรถไฟฟ้า (รวมทั้งแบบมีแบตเตอรี่ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด) ซึ่งก็คิดเป็นเพียง 0.1% ของรถบรรทุกทั้งหมดที่วิ่งบนถนน 

สำหรับไตรมาสแรกของปี 2024 รถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลที่จดทะเบียนในยุโรป มีทั้งสิ้น 81,470 คัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (85,300 คัน) 4.5% โดยอันดับ 1 คือ เยอรมนี 22,395 คัน ตามด้วยฝรั่งเศส 11,194 คัน และ สเปน 7,746 คัน ขณะที่รถบรรทุกไฟฟ้า 1,641 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (1,267 คัน) 29.5% โดยอันดับ 1 คือเยอรมนี 925 คัน เนเธอร์แลนด์ 148 คัน และฝรั่งเศส 122 คัน 

เรียบเรียงจาก

https://www.reuters.com/business/environment/eu-countries-approve-law-slash-trucks-co2-emissions-2024-05-13

https://auto.economictimes.indiatimes.com/news/commercial-vehicle/eu-countries-back-truck-emissions-law-after-german-hold-up/107576224

https://www.euractiv.com/section/energy-environment/news/blockade-lifted-germany-gives-way-on-eus-2040-truck-co2-rules

https://www.politico.eu/article/germany-e-fuels-munich-car-auto-show-emissions

https://www.acea.auto/cv-registrations/new-commercial-vehicle-registrations-vans-12-6-trucks-4-buses-23-3-in-q1-2024

https://www.acea.auto/files/ACEA_truck_fact_sheet.pdf

ที่มาภาพ: 

Richard Says via Flickr (CC BY-NC-ND 2.0 DEED)https://www.flickr.com/photos/131786702@N03/30415750024/

ข่าวยอดนิยม

ทั้งที่แผน PDP สำคัญระดับชาติ กำหนดทิศทางไฟฟ้าประเทศ
ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย
ครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้งทั่วไป ชวนเช็กความคืบหน้านโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่าทำไมมันร้อนเหมือนซ้อมลงนรกได้ขนาดนี้ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือบิลค่าไฟที่ทะลุเดือดไม่ต่างกับอากาศ เพราะต้องเปิดแอร์ฉ่ำๆ เพื่อดับร้อน  จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ ถือเป็นการทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ซึ่งเคยทำไว้ที่ 34,130.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะมีพีคอีกรอบ แม้ว่าจะเกิดตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ในระบบการไฟฟ้า เพราะตัวเลขนี้ยังห่างไกลจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ เพราะมีการสำรองไฟฟ้าไว้สูงจนถึงขั้นล้นเกิน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ อยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 43.92% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ฟังดูประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานดีสุดๆ ใช้ไฟพีคแค่ไหน ก็ยังมีไฟล้นเหลือสำรองไว้ ไม่ต้องกลัวว่าเปิดแอร์มากแค่ไหน ไฟในประเทศจะไม่พอ แต่รู้ไหมว่า ที่สำรองไว้จนล้นเกินน่ะ ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมันบวกอยู่ในบิลค่าไฟเราแล้ว  หลายคนคงคิดว่า อ้าว…แล้วจะไม่สำรองไฟเลยเหรอ ถ้าไม่พอขึ้นมา ไฟดับจะทำยังไง […]

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จนกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets)

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง