Search

CFNT เปิดผลวิจัยประเมินมูลค่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเสวนาแผน PDP 2024

ผลการศึกษาประเมินมูลค่าชี้ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จนกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets) คิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ 3.6 ถึง 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่วงเสวนาแสดงความกังวลต่อร่างแผน PDP2024 ว่า จะสามารถนำประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 67 เวลา 08:30 – 12:30 น. ที่ ห้องซากุระ ชั้น 4 โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand หรือ CFNT) ได้จัดงานแถลงเปิดตัวเครือข่ายพร้อมผลงานวิจัยชิ้นแรก “ชำระบัญชีฟอสซิล: การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย” และเสวนาในหัวข้อ “เพิ่มพลังเพื่อรับมือโลกรวน: แผนพลังงานชาติฉบับใหม่และกฎหมายโลกรวน” ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา หุ้นส่วน บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด และ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย

สฤณี อาชวานันทกุล ผู้อำนวยการ CFNT กล่าวเปิดงานโดยแนะนำภารกิจของเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT) ที่มีเป้าหมายเพื่อจุดประกายเรื่องการเงินกับการรับมือภาวะโลกรวน ด้วยวิธีการนำเสนอผ่านงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะและสอดคล้องกับภาคการเงินและภาคนโยบายด้านการรับมือด้านสภาพภูมิอากาศที่คำนึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคม และความยุติธรรมทางด้านภูมิอากาศ (Climate Justice) นอกจากนี้ CFNT ยังต้องการสร้างเครือข่ายสมาชิกจากทุกภาคส่วนที่มีความสนใจเรื่องการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) อีกด้วย สฤณีระบุว่าสถานการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่อยู่ใน ‘ภาวะโลกรวน’ แต่เป็น ‘ภาวะโลกเดือด’ ฉะนั้น CFNT จึงมุ่งศึกษาประเด็นเรื่องแนวทางการเงินในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาสามารถแข่งขันในตลาดสากลที่และทุกประเทศกำลังพัฒนาประเทศไปสู่สังคม Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจทั่วโลก

“สังคม Net Zero เป็นอุดมคติที่จะไปให้ถึงในปัจจุบัน แต่ความเป็นจริงแล้วมีนักคิดบอกว่าเราต้องเผื่อสถานการณ์ที่เลวร้ายลง อาจต้องไปไกลกว่าการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงไปสู่คาร์บอนต่ำ โดยต้องคิดว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างไร หรือคำใหม่ Regenerative Economy คือเศรษฐกิจที่ฟื้นฟู โอบอุ้ม งอกเงย ไม่ใช่แค่การพยายามทำให้แย่น้อยลงเท่านั้น”

สฤณี กล่าวต่อว่า สถานการณ์ด้าน Climate Finance หรือการเงินที่รับมือกับภาวะโลกรวนประกอบด้วย 2 ส่วน หนึ่งคือการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกรวน และสองการปรับตัวกับภาวะโลกรวน จำนวนตัวเลขล่าสุดข้อมูลจาก Climate Policy Initiative ประเมินว่าจำนวนเงินที่ใช้รับมือกับภาวะโลกรวนทั่วโลกอยู่ที่ราว 1.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่จะใช้เรื่องของการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานและการขนส่งซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยคาร์บอนสูงการศึกษายังระบุอีกว่างบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอในการรับมือกับภาวะปัญหาโลกรวน รายงานของ IPCC ระบุว่าถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องใช้จำนวนเงินอย่างน้อย 5 เท่าของปัจจุบัน หรือประมาณ 8.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักการเงินในปัจจุบัน เพราะการดำเนินการแบบเดิมอาจสร้างความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกรวนที่มีมูลค่ามหาศาลหลายเท่าตัว

ในการแถลงผลงานวิจัยเรื่อง“ชำระบัญชีฟอสซิล : การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย” รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัย CFNT กล่าวถึงประเด็นสำคัญของผลงานวิจัยว่า หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่จำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 พันธกรณีที่ระบุในเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจพร้อมกับเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลเหล่านี้กลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets) คิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ 3.6 ถึง 5.3 แสนล้านบาท

“โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าถ่านหินมีอายุประมาณ 25 ปี แต่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎระเบียบการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ โรงฟ้าเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ครบ 25 ปี เช่นถ้าใช้งานไปได้ 10 ปีโรงไฟฟ้าก็ต้องปิด อย่างนี้เราจะเรียกโรงไฟฟ้าดังกล่าวว่าเป็น stranded assets” รพีพัฒน์ กล่าว
“ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เราต้องยอมเสียเพราะในอีก 30 หรือ 50 ปีข้างหน้า ความพยายามรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะบีบให้ตัวโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าสูญประโยชน์ทางเศรษฐกิจ”

ในส่วนของร่างแผน PDP2024 นั้น รพีพัฒน์ มีความเห็นว่าร่างแผน PDP 2024 หากเปรียบเทียบกับ 2018 ดูจะมีทิศทางที่ดีกว่าเดิม อย่างตัวเลขของโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ร่างแผน PDP 2024 จะไม่มีแล้ว และในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ก็ลดลงไป 1,300 เมกะวัตต์ แต่เมื่อได้นำตัวเลขในแผน PDP 2024 มาคํานวณจะได้ผลว่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets) ไม่ได้ลดลงจนเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนรพีพัฒน์มีข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024 ดังนี้การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย

1) ความไม่สอดคล้องกันของร่างแผน PDP2024 กับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy : LT-LEDS) ร่างแผน PDP2024 นั้นสิ้นสุดที่ปี 2037 โดยระบุว่ามีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51% แต่แผน LT-LEDS ระบุว่าปี 2040 จะต้องมีพลังงานหมุนเวียน 68% สิ่งนี้น่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานภายใน 3 ปี

2) ร่างแผน PDP2024 ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนมหาศาลจากเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ซึ่งปรากฏในแผน LT-LEDS โดยต้นทุนในส่วนนี้หากไม่มีการเตรียมการที่ชัดเจนอาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและเสี่ยงที่ภาระดังกล่าวจะส่งผ่านมายังประชาชน

3) หากยังเดินหน้าตามแผน PDP2024 ต่อไปย่อมต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ แต่ต้องยอมรับว่าแม้จะมีการลงทุนไปแล้วแต่อนาคตธุรกิจเหล่านี้จะต้องเจอกฎเกณฑ์ข้อบังคับใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจบังคับใช้ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งอาจทำให้สินทรัพย์ทั้งห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต

การที่ประเทศไทยประกาศว่าเราจะเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และปี 2065 เราจะลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งแนวโน้มของประเทศไทยยังคงตกเป้า เรายังทำไม่ได้ตามข้อตกลงปารีส ในปี 2025 ประเทศไทยจะต้องเสนอแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้นในเวที COP30 ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางนโยบายภายในประเทศอย่างแน่นอน”

เพิ่มพลังเพื่อรับมือโลกรวน: แผนพลังงานชาติฉบับใหม่และกฎหมายโลกรวน

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญเพื่อการรับมือโลกรวน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การติดตามแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ประกอบด้วยหลายแผน ได้แก่ แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP2024 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) โดยแผนทั้ง 3 นี้ คือส่วนประกอบของการนำไปสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคพลังงานทั้งหมด


ประเด็นสำคัญคือการมองเห็นทิศทางพลังงานของประเทศไทยโดยเฉพาะแผน PDP2024 ซึ่งถือเป็นแผนหลัก ในเนื้อหายังเน้นอยากจะทำใประเทศไทยมีพลังงานระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคง การมีไฟฟ้าราคาถูกและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ และเรื่องที่ดีในแผนนี้ที่แตกต่างจากแผน PDP ที่ผ่านมาคือการขยับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน แต่หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าการขยับนั้นยังน้อยหรือไม่แรงพอที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น

“ความมั่นคงทางพลังงานไม่ได้หมายถึงไฟไม่ดับอย่างเดียว แต่หมายถึงเราสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวะวิกฤตต่างๆได้ด้วยเช่นกัน..นอกจากนี้ในแผน PDP2024 จะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าสำรองเป็นฟอสซิลมากถึง 6,300 เมกะวัตต์ ในขณะที่ของที่มีอยู่กำลังกลายเป็น stranded assets สิ่งนี้จะเห็นว่าจะเป็นปัญหาที่มากขึ้นในอนาคต”

ประเด็นที่ควรพิจารณาทบทวนแผน PDP2024 คือความไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังจากแผนนี้ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียความมั่นคงบางมิติ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น และการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงแนวก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การเพิ่มโรงไฟฟ้าสำรองที่เป็นฟอสซิลมากถึง 6,300 เมกะวัตต์ การเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นด้วยไฮโดรเจนและเขื่อนต่างประเทศ และแม้จะทำเรื่องความยั่งยืนแต่ก็กำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนเพียง 51% ซึ่งยังไม่ท้าทายและตอบโจทย์ NDC ของไทย และยังไกลจากเป้าหมายในระดับโลก

ในระยะสั้นประเทศไทยควรมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ อย่างน้อย 30% เพื่อให้ทันการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่หากดูจากแผน PDP 2024 จะเห็นว่าประเทศไทยทำได้เพียง 10% ฉะนั้นแผน PDP ถ้ามองในระยะ 6 ปีข้างหน้าก็ยังเป็นเป้าหมายที่ต่ำเกินไป

นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเราไม่มีแผน PDP ที่ชัดเจนสุดท้ายประเทศไทยจะแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่ได้ ถ้าลูกค้าบอกว่าเรายังมีพลังงานสะอาดไม่พอเขาก็ไปซื้อประเทศอื่น บทบาทสำคัญของการกำกับพลังงานตนมองว่าเป็นคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศที่จะต้องมีความพยายามอย่างหนัก เพราะแผน PDP2024 กับ 2018 ยังไม่มีความแตกต่างมากนัก

หากทบทวนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นสูงในปี 2018 รัฐบาลก็ไม่ได้นำมาเป็นบทเรียนในแผนล่าสุดเพื่อการรับมือเรื่องต้นทุนการนำเข้าพลังงาน นอกจากนี้หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าแผน PDP2024 ไม่ได้มีเป้าหมายสอดคล้องไปด้วยกันกับแผน NDC และแผน AEDP ฉะนั้นในฐานะภาคเอกชนจึงมีความสับสนของแผนต่างๆ ด้านพลังงานของภาครัฐ


ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่อย่าลืมว่าเป้าของเอกชนนั้นไม่ใช่เป้าของรัฐ เป้าหมายของเอกชนคือ RE100 มาจาก Renewable 100% หรือพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ภาคเอกชนทำแล้วแต่ไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของรัฐบาลไทยเป็นเป้าหมายจากลูกค้า ประเด็นสำคัญคือถ้าประเทศไทยไม่มีแผนที่ชัดเจนเรื่องพลังงานก็จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคตของประเทศไทย ยกตัวอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นฐานผลิตให้ต่างประเทศก็มีความต้องการที่จะใช้ไฟ RE100 พร้อมกับมีความคาดหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าทุกปี แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ชัดเจน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม นำหน้าไทยไปแล้วในเรื่องนี้

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า แผน PDP2024 ยังไม่ได้มีการใส่ในมิติอื่นเข้าไป วันนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ว่าการมีไฟฟ้าคือความมั่นคงแต่โลกต้องการพลังงานสะอาดและราคาถูก ฉะนั้นแผน PDP ต้องสะท้อนภาพใหญ่ของประเทศต้องเชื่อมไปถึง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงเทคโนโลยีที่ใช้เรื่องพลังงาน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (LCOE) ซึ่งปัจจุบันต้นทุนพลังงานหมุนเวียนใกล้เคียงกับพลังงานฟอสซิล อนาคตเราอาจทำโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ถูกกว่าโรงไฟฟ้าฟอสซิล สิ่งเหล่านี้เมื่อไม่ได้อยู่ในแผน PDP ประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ส่วนแผนที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็น stranded assets สุดท้ายก็จะส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟที่สูงขึ้น

กรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา หุ้นส่วน บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด กล่าวว่า วันนี้ทุกคนในโลกรับรู้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทุกประเทศต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามกำลังที่ทำได้ตามข้อตกลงปารีส แต่ประเทศไทยควรจะทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ในฐานะที่ดูแลกระบวนการรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับทุกภาคส่วนในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอสำหรับขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วยเรื่องของนโยบาย ความเสี่ยงทางกายภาพ และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์และกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยรับมือปัญหา เช่น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมและอื่นๆตามสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หลักการคือใครผลิตเยอะต้องจ่ายเยอะ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวโดยการตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบในระดับสูง ตนจึงอยากให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จริงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรร

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำนโยบายโดยตรงแต่มีหน้าที่ให้ความเห็นและติดตาม ข้อสังเกตต่อแผนพลังงานชาติ (PDP2024) ซึ่งในขณะนี้กำลังรวมประกอบแผนย่อยและแผนพลังงานชาติยังไม่ได้ออกมาโดยตรง ต้องกล่าวว่า แผน PDP และแผน AEDP มุ่งตอบโจทย์เรื่องโลกร้อนแต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายเดียว ฉะนั้นการตอบโจทย์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Net Zero นั้นไม่ใช่โจทย์เดียวกับแผนพลังงานชาติ แผน PDP ฉบับใหม่ที่จะออกมามุ่งตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หากเปรียบเทียบระหว่างแผน PDP2018 กับแผน PDP2024 ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต่างกันอย่างชัดเจน

ภาคส่วนด้านพลังงาน เป็น 70% ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีอีก 30% ที่ไม่ได้มาจากภาคพลังงาน PDP จึงไม่ได้มุ่งเรื่องเฉพาะ Net Zero เพราะยังมีช่องว่างอีก 30% ที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น เรื่องของเสียในประเทศ ฉะนั้น ถ้าเราจะทำทั้งหมดให้ครอบคลุมเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะต้องมีเรื่องอยู่นอกเหนือแผน PDP ในเวทีสากลเราจะเจอเรื่อง Trilemma ที่จะต้องดำเนินการด้านพลังงานให้ตอบโจทย์ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในแผน PDP ของไทยเช่นกัน แต่การเปลี่ยนผ่านทั้งหมดด้านพลังงานกลายเป็นโจทย์สำคัญที่สามารถทำได้แผนพลังงานชาติต้องมารองรับในส่วนนี้


อีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามคือ deregulation กล่าวคือผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและการแก้ปัญหาวิกฤตภูมิอากาศ สุดท้ายนี้ประเทศไทยมีความท้าทายด้านโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปแบบ Enhanced Single Buyer Model (ESB) ซึ่งใช้มานานกว่า 21 ปีมาแล้ว นับเป็นโจทย์โครงสร้างดังกล่าวสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานหรือไม่

หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอได้จากลิงก์นี้ https://shorturl.at/PpjOs

ข่าวยอดนิยม

ทั้งที่แผน PDP สำคัญระดับชาติ กำหนดทิศทางไฟฟ้าประเทศ
หยุดเซ็นโรงใหม่ ชะลอโรงที่เซ็นไปแล้ว หนุนโซลาร์เซลล์

ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่าทำไมมันร้อนเหมือนซ้อมลงนรกได้ขนาดนี้ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือบิลค่าไฟที่ทะลุเดือดไม่ต่างกับอากาศ เพราะต้องเปิดแอร์ฉ่ำๆ เพื่อดับร้อน  จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ ถือเป็นการทำลายสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ซึ่งเคยทำไว้ที่ 34,130.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะมีพีคอีกรอบ แม้ว่าจะเกิดตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว แต่ก็จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ในระบบการไฟฟ้า เพราะตัวเลขนี้ยังห่างไกลจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบ เพราะมีการสำรองไฟฟ้าไว้สูงจนถึงขั้นล้นเกิน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ อยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 43.92% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ฟังดูประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานดีสุดๆ ใช้ไฟพีคแค่ไหน ก็ยังมีไฟล้นเหลือสำรองไว้ ไม่ต้องกลัวว่าเปิดแอร์มากแค่ไหน ไฟในประเทศจะไม่พอ แต่รู้ไหมว่า ที่สำรองไว้จนล้นเกินน่ะ ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมันบวกอยู่ในบิลค่าไฟเราแล้ว  หลายคนคงคิดว่า อ้าว…แล้วจะไม่สำรองไฟเลยเหรอ ถ้าไม่พอขึ้นมา ไฟดับจะทำยังไง […]

เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

คนใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอแล้วกับโรงไฟฟ้าก๊าซ ขอโซลาร์เซลล์เต็มศักยภาพและรัฐต้องสนับสนุน

ชาวใต้เสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ชาวเหนือเรียกร้องปิดตำนาน ‘แม่เมาะ’ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว

ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

โรงไฟฟ้าพลังน้ำกับความหมกเม็ดของ ‘พลังงานสะอาด’ ในร่างแผน PDP2024

ทำไม 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว' ในร่าง PDP2024 ถึงไม่จำเป็น

ชวนโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024

เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย