Search

แผนพลังงานชาติ (NEP) ที่เพิ่งจะมี กับแผน PDP ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

  • แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) หรือ NEP คือแผนแม่บทที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ โดยมีผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกอบไปด้วยแผนพลังงานอีก 5 แผน คือ แผน PDP แผน AEDP แผน EEP แผน Gas Plan และแผน Oil Plan
  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP เป็นแผนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องของค่าไฟ เพราะเป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อนำไปสู่การวางแผนล่วงหน้าในระยะเวลา 15-20 ปีว่า ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ประเภทใด จะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร
  •  กระบวนการจัดทำแผน PDP สามารถแบ่งออกได้ 2 ขั้นตอน  คือ 1) การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน  2) การจัดทำแผน ซึ่งรับผิดชอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้กรอบแนวนโยบายกว้างๆ ของกระทรวงพลังงาน 
  • การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ทำโดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจะประมาณการจากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว (GDP) และประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของประชากรเป็นหลัก จากนั้นจะวางแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าด้วยการคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่า 15%
  • แผน PDP 2024 จะเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เฉพาะ 4 ภาค เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง ให้เวลาภาคละ ครึ่งวัน รวม 2 วัน และจะมีการเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Facebook-EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิถุนายน 2567

แผนพลังงานชาติ (NEP) คืออะไร  ทำไมเพิ่งจะมี ?  

แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) หรือ NEP คือแผนแม่บทที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ โดยมีผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกอบไปด้วยแผนพลังงานอีก 5 แผน คือ 

1. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) หรือ PDP โดยมี สนพ. เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นแผนหลักด้านพลังงานไฟฟ้าที่ว่าด้วยการผลิตและจัดหา ซึ่งมีความสําคัญต่อการวางแผนพลังงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า จัดเป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมาจากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสู่การวางแผนล่วงหน้า 15-20 ปี ว่า ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ประเภทใด จะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร 

2. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) โดยมี สนพ. เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นแผนที่ว่าด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อ ความต้องการใช้งานใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้ในภาคการขนส่ง และใช้เป็นเชื้อเพลิง หลักในการผลิตไฟฟ้า โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติมีทั้งการขุดเจาะในประเทศ นําเข้าจากพม่า และนําเข้า LNG จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan) หรือ EEP โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นแผนที่ว่าด้วยการจัดการด้านความต้องการใช้พลังงาน (Demand Side Management) เพื่อลดความต้องการใช้พลังงาน โดยกําหนดแนวทาง มาตรการด้านนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

4. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan) หรือ AEDP โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นแผนที่ว่าด้วยการจัดหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานจากการใช้แหล่งวัตถุดิบพลังงานในประเทศเพื่อลดการนําเข้าและพึ่งพาพลังงานฟอสซิล

5. แผนบริหารจัดการน้ํามันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยมีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นแผนที่ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ํามันเชื้อเพลิง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายภายใต้แผนพลังงานอื่น ๆ โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก

ประเทศไทยยังไม่เคยมีแผนพลังงานชาติมาก่อนจนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 มีมติให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนบูรณาการในภาพรวมระยะยาว (Thailand Integrated Energy Blueprint) หรือ TIEB  เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 แผนหลัก จุดมุ่งหมายคือ การรวบรวมแผนบริหารจัดการพลังงานของประเทศเข้าไว้ในแผนเดียว ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการจัดทำ PDP 2015

 แนวความคิดการจัดทำแผนพลังงานชาติ (NEP) มาจากการที่อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายใน COP21 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ต่อมาในการประชุม COP26 ในปี 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่า ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แต่เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว มีเพียงแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ. 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 20-25% และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของ คสช. ที่กำหนดเป้าหมายไว้อย่างกว้างๆ ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20% และใช้พลังงานหมุนเวียน 40% จึงมีการมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. จัดทำรายละเอียดแผนพลังงานชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality)

โดยในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ  (National Energy Plan) ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) ซึ่งแผนพลังงานชาตินี้ก็จะกลายมาเป็นแผนแม่บทในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของไทยในแผนย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานซึ่งจะถูกรวบรวมและจัดทำให้เป็นแผนพลังงานชาติเพียงฉบับเดียว ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

โดยในปี 2564 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น / กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ และสถาบันต่างๆ จากนั้น สนพ. จึงจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน และนำมาปรับปรุงแผนฯ ก่อนมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำแผนฯ ไปจัดทำแผนย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผน และคาดว่าจะประกาศใช้แผนพลังงานชาติอย่างเป็นทางการในปี 2566 

แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในแบบสาธารณะเกิดขึ้น จนเมื่อปี 2566 ก็มีข่าวอีกครั้งว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและจะประกาศใช้แผนพลังงานชาติ และแผนย่อยอีก 5 แผนในปีนั้น แต่ก็ถูกเลื่อนออกมา จนปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งว่าจะมีการเปิดร่างแผน PDP ในวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะเลื่อนเดือนพฤษภาคม และเลื่อนมาเป็นมิถุนายน จนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดงาน“สนพ.อุ่นเครื่องก่อน เปิดรับฟังความคิดเห็น PDP2024 และ Gas Plan2024 12-13 มิ.ย. 2567 มีการเปิดเผยว่า จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567

ในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนจะเป็นช่องทางออนไลน์ เฉพาะ 4 ภาค เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง ให้เวลาภาคละ ครึ่งวัน โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน (นานกี่ชั่วโมง) รวม 2 วัน 

และจะมีการเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Facebook-EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิถุนายน 25

ทั้งนี้ แม้การจัดรับฟังความคิดเห็นจะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่น่าสังเกตว่า สนพ. ยังไม่เปิดเผยร่างฯ แผน PDP 2024 และยังไม่ประกาศกระบวนการจัดทำและพิจารณาแผนที่มีรายละเอียดชัดเจน รวมถึงยัง

ไม่ให้ข้อมูลว่าจะมีวิธีพิจารณาความคิดเห็นอย่างไร จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.เมื่อใด

แผน PDP คืออะไร ใครเป็นคนทำแผน ? 

แม้แผนพลังงานชาติ (NEP) จะเป็นสิ่งใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน และประชาชนคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคย ได้ยินชื่อ หรือเข้าใจในรายละเอียดมากนัก แต่หนึ่งในแผนด้านพลังงานที่คนไทยหลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อและคุ้นเคยมากที่สุดก็คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP ซึ่งเป็นแผนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องของค่าไฟ 

PDP เป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการ

พยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อนำไปสู่การวางแผนล่วงหน้าในระยะเวลา 15-20 ปีว่า ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ประเภทใด จะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร

การคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในแผน PDP นี่เอง ที่นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านพลังงาน

ทุกครั้งที่มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างของการสร้างโรงไฟฟ้าไปจนถึงการซื้อไฟฟ้าจะถูกผลักเข้ามาสู่บิลค่าไฟของคนไทยทุกคน ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วโรงไฟฟ้าโรงนั้นจะเดินเครื่องจ่ายไฟเข้ามาระบบหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ค่าออกแบบ จัดจ้าง จัดซื้อ ก่อสร้าง ทดสอบ เดินเครื่อง บำรุงรักษา รวมไปถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าที่พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าทันที การที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกผลักภาระมาไว้ในบิลค่าไฟของเราทุกคน เพราะเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับผู้ผลิตเอกชน กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ดี ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ 

แผน PDP จึงเป็นแผนที่ใกล้ชิดกับกระเป๋าตังค์ของคนไทยมากที่สุด เพราะค่าไฟจะแพงขึ้นหรือไม่ เกี่ยวข้องกับแผน PDP โดยตรง 

ใครเป็นคนทำ PDP

ตั้งแต่ปี 2535 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ที่ผ่านมา กฟผ. เป็นผู้จัดทำแผนมาแล้วรวม 13 ฉบับ จนพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 บังคับใช้ กระทรวงพลังงานจึงเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ตั้งแต่ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ออกมาในปี 2555 เป็นต้นมา

ปัจจุบันประเทศไทยมีแผน PDP มาแล้วทั้งหมด 16 แผน ในเวลา 32 ปี โดยแผน PDP ฉบับล่าสุดคือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2563 

กระบวนการจัดทำแผน PDP สามารถแบ่งออกได้ 2 ขั้นตอน  คือการพยากรณ์และการจัดทำแผน โดยมีกระบวนการและผู้รับผิดชอบในแต่กระบวนการดังนี้

1) การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ขั้นตอนการจัดทำ “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า” คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จะประมาณการจากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว (GDP) และประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของประชากรเป็นหลัก จากนั้นจะวางแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าด้วยการคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่า 15%

คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตัวแทนผู้ผลิต/จำหน่ายไฟฟ้า คือ กฟผ. กฟน. กฟภ. และสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ผู้แทน ปตท. ตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนนักวิชาการ

 2) การจัดทำแผน ซึ่งรับผิดชอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้กรอบแนวนโยบายกว้างๆ ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้ สนพ. จะต้องวางแผนจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พยากรณ์ไว้ไม่ว่าจะเป็นกําหนดการสร้าง โรงไฟฟ้า กําหนดเชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตพลังงาน และกําหนดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยต้องคํานึงถึง หลักการสําคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การมีไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ในราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3) หลังจาก สนพ. จัดทำแผน PDP แล้ว จะส่งไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วน โดยไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่ชัด จากนั้นจึงจะนำมาพิจารณาปรับปรุงซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาไปตามลำดับขั้นโดยคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน 

4) เริ่มด้วย คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และมีกรรมการอีก 11 คนที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ จากนั้นจึงจะส่งให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ ให้ความเห็นชอบตามแผน 

5) หลังจาก กพช. เห็นชอบแล้วก็จะจะส่งให้ ครม. เห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ปัญหาของการจัดทำแผน PDP 

แม้แผน PDP จะเป็นการวางแผนพลังงานระยะยาว 15-20 ปีข้างหน้า แต่ก็จะมีการปรับปรุงแผนเป็นระยะ โดย PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันในปี 2567 ซึ่งนับเป็นแผนที่ใช้มายาวนานที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยมีแผน PDP มา แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวออกมาว่าประเทศไทยจะมีแผน PDP ฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 2564 แต่กระบวนการออกแผน PDP ที่ต้องอยู่ภายใต้แผนใหม่คือแผน NEP ก็ล่าช้าและเลื่อนเรื่อยมาจนถึงปี 2567 นี้ ที่แผน PDP 2024 ฉบับใหม่กำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็น

ความล่าช้าของแผน PDP ฉบับใหม่นี้ ทำให้ประเทศไทยต้องดำเนินการด้านพลังงานตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 อันมีฐานมาจากแผน PDP 2018 ที่ประกาศใช้มาคั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมา ซึ่งการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้านั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากจะส่งผลกระทบในการด้านปริมาณการใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังส่งผลของกระทบในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย นั่นหมายความว่า หลังการระบาดของโควิด-19 เรายังมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ก่อนการระบาดของโควิด-19 ทั้งๆ ที่ในสภาพการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามแผนนั้น 

ความล่าช้าในการปรับจนทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ทำให้ปี 2565-2566 ที่ผ่านมา มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่รวม 4 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ประเทศลาว กำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ประเทศลาว กำลังการผลิต 750 เมกะวัตต์ โครงการที่มีการลงนามในสัญญา MOU กับกฟผ.แล้วคือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ประเทศลาว 1,460 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A/4B ประเทศลาว 347.3 เมกะวัตต์  ทั้งๆ ที่การการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือตัวเลข GDP ของประเทศลดลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าและการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 นั้นไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบสูงถึง 49,604 เมกะวัตต์ แต่การใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 34,131 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบสูงกว่าการใช้จริง 31.19% และสูงกว่าหลักการการสำรองไฟฟ้าไว้ที่ 15% ถึง 16.19% เลยทีเดียว หรือแม้แต่ในปี 2567 นี้เองก็ตามที่การใช้ไฟพีคสูงสุดในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 36,792.1เมกะวัตต์ แต่ก็ยังต่ำกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบเมื่อเมษายน 50,724.10 เมกะวัตต์ ถึง 27.46% ซึ่งการที่เรายังคงใช้แผน PDP เดิม เดินหน้าอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามแผนเดิมนั้นทั้งๆ ที่กำลังการผลิตที่มีในระบบยังล้นเกินอยู่นั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะกลับมาเป็นค่าไฟของประชาชนทุกคนที่จะสูงขึ้นในอนาคต

ไม่เพียงแค่นั้นประเทศไทยเองยังสูญเสียโอกาสและเวลาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และโอกาสในการเดินทางไปสู่ Net Zero ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2050 พร้อมประชาคมโลก เนื่องด้วยการใช้แผน PDP เดิมมาอย่างยาวนาน ซึ่งแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงที่ 1 ยังคงวางแผนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก โดยปัจจุบัน ณ มีนาคม 2567 ข้อมูลจาก สนพ. พบว่าประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 74.02% ในขณะที่พลังงานหมุนเวียน อันเป็นพลังงานที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำมีเพียง 11% เท่านั้น และแผน PDP 2018 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ก็ยังวางแผนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนไว้อย่างยาวไกล โดยกำหนดว่าในปี 2580 ประเทศไทยถึงจะมีพลังงานหมุนเวียน 32.5% 

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของการจัดทำแผน PDP ของไทยก็คือการที่ประชาชนชาวไทยขาดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาและกำหนดอนาคตทางด้านพลังงานของประเทศ ทั้งๆ ที่ประชาชนคนไทยนั้นจะกลายมาเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่อยู่ในแผน PDP ในนามค่าไฟ โดยกระบวนการการเปิดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน อันเป็นกระบวนการเดียวที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตและทิศทางพลังงานไทยได้นั้น กลับเป็นกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้รายละเอียดของกระบวนการจัดทำที่ละเอียดและชัดเจน การไม่เปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่น สมมติฐานที่ใช้ในการจัดทำแผนเป็นอย่างไร ระยะเวลาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นก็สั้นและกระชั้นชิดเกินไป  

ในขณะที่สำหรับการดําเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดําเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือโดยวิธีการให้สัมปทานหรือ อนุญาตให้บุคคลอื่นทํา ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ว่า ต้องประกาศแผนการดำเนินการล่วงหน้าต่อประชาชน ทั้งวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน และสรุปผลต่อประชาชนภายใน 15 วัน

แต่จากการสำรวจกระบวนการจัดทำ PDP ในช่วงสองทศวรรษ พบว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำ PDP 2010 และ PDP 2015 มีระยะเวลา 2 วันเท่านั้น หรือกรณีของ PDP 2018 ซึ่งจัดการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก็มีเวลาเพียง 5 วัน โดยในส่วนกลางนั้นมีการจัดการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพฯ เพียง 1 วันเท่านั้น หรือการรับฟังความคิดเห็นของ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด เป็นส่วนหนึ่งของเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว(TIEB) ฉบับใหม่ รวม 4 แผน ใช้เวลา 1 วัน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น กพช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ก่อนที่ครม.จะเห็นชอบเมื่อ 20 ตุลาคม 2563

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่า ประชาชนแทบไม่มีบทบาทใดๆ ในกระบวนการกำหนดอนาคตและทิศทางพลังงานของไทยแม้จะเป็นผู้ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดหลังจากแผน PDP ประกาศใช้ในนามค่าไฟที่จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักเป็นคณะกรรมการในชุดต่างๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายการเมือง หน่วยงานราชการ ผู้ผลิตไฟฟ้า บริษัทพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งหลายคนยังเป็นกรรมการของบริษัทพลังงานต่างๆ ที่มีผลประโยชน์โดยตรงในกระบวนการวางแผนด้วย ขณะเดียวกันกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหลังจากมีร่างของแผนแล้วก็ไม่สะท้อนว่า ผู้จัดทำมีเจตนาจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภครายย่อยและสาธารณชนอย่างที่ควรจะเป็น เช่น การไม่เปิดเผยร่างฯ ล่วงหน้า ระยะเวลาที่สั้นเกินไป จนอาจเรียกได้ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมได้น้อยมากในกระบวนการตัดสินใจ

แผน PDP 2024 ซึ่งกำลังจะเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าประชาชนผู้เสียค่าไฟจะมีความสำคัญมากแค่ไหนในการกำหนดอนาคตและทิศทางพลังงานของประเทศ 

บทความยอดนิยม

พาไปสำรวจทั่วโลกว่ามีประเทศไหนบ้างที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเท่าไร เพราะอะไร หรือยุบทิ้งไปแล้วเพราะอะไร ตลอดจนแนวคิดของไทยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เรากำลังยืนอยู่บนทางแพร่งระหว่างการเดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงพลังงาน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาค
ในยุคที่เรียกกันติดปากว่า “ของแพง ค่าแรงถูก” ปัญหาหนักอกของคนไทยทั้งประเทศก็คือ สินค้า และบริการที่กำลังขึ้นราคานั้นหลายชนิดไม่ใช่ของหรูหราราคาแพงที่นานๆ เราจะซื้อที แต่เป็นของที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ “ค่าไฟฟ้า” สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตสมัยใหม่
พีดีพีคืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับบิลค่าไฟของเรา
ทำไม 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว' ในร่าง PDP2024 ถึงไม่จำเป็น

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

ชาวเหนือเรียกร้องปิดตำนาน ‘แม่เมาะ’ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว

ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

CFNT เปิดผลวิจัยประเมินมูลค่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเสวนาแผน PDP 2024

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จนกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets)

โรงไฟฟ้าพลังน้ำกับความหมกเม็ดของ ‘พลังงานสะอาด’ ในร่างแผน PDP2024

ทำไม 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว' ในร่าง PDP2024 ถึงไม่จำเป็น

ชวนโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024

เสียงโหวตของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีความหมาย