Search

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ไหน เป็นของใครบ้าง

  • โรงไฟฟ้าขยะเป็นนโยบายเร่งด่วนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 57 กระทรวงพลังงานจัดทำ “ข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562” 
  • เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 58 มีมติอนุมัติอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562 ในปริมาณไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกมีจำนวน 7 บริษัท รวม 30.78 เมกะวัตต์
  • 22 มิ.ย. 65 กพช. ให้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมจำนวน 100 เมกะวัตต์ และให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 40 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 60 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 10 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการคัดเลือก 13 ราย 
  • ระเบียบการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ระบุว่า ภาครัฐจะรับซื้อหน่วยละ 6.08 บาท อายุสัญญา 20 ปี โดยช่วง 8 ปีแรก ได้รับ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.70 บาท และถ้าเป็นโครงการในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ได้ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.50 บาท
  • โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจากทั้ง 20 บริษัท 130.78 เมกะวัตต์ เมื่อคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น พบว่า บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด 53.78 เมกะวัตต์ อันดับ 2 บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิตไฟฟ้า 45.44 เมกะวัตต์ อันดับ 3 บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กำลังการผลิตไฟฟ้า 7 เมกะวัตต์ อันดับ 4 บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด 5.28 เมกะวัตต์ อันดับ 5 บริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 4 เมกะวัตต์

แนวคิดการนำเอาขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้า เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) เองก็เพิ่งริเริ่มโครงการกําจัดมูลฝอยผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งที่หนองแขมและอ่อนนุช ขนาด 1,000 ตัน 

ในประเทศไทยมีการทำโรงไฟฟ้าขยะ 2 แบบ คือ โรงไฟฟ้าขยะจากขยะมูลฝอย โดยจากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า หากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีจำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิต 182.54 เมกะวัตต์ อยู่ที่จังหวัดสระบุรีและสุพรรณบุรี หากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มีจำนวน 98 โครงการ เดินเครื่องแล้ว 40 โครงการ มีกำลังการผลิต 163.16 เมกะวัตต์

และอีกแบบคือ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกประเภทหนึ่งของโรงไฟฟ้าขยะที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะเป็นการกำจัดการขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายโดยนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะล่าสุดจากข่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทลงนามสัญญาเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น จำนวน 80 เมกะวัตต์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

JustPow ชวนมาสำรวจว่า โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งอยู่ที่ใด และใครเป็นเจ้าของบ้าง

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม กำเนิดจากวาระแห่งชาติของรัฐบาลประยุทธ์ 1

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยให้เหตุผลว่า มีขยะตกค้างและขยะที่มีการจัดการไม่ถูกต้องอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 กระทรวงพลังงานจึงจัดทำ “ข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562” “เพื่อรองรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย ซึ่งการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม” โดยให้นับเป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมายตามกรอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP)

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT เพื่อที่จะประกาศใช้ในปี 2558 สำหรับพลังงานหมุนเวียน (ยกเว้นพลังงานแสงอาทิตย์) ประกอบด้วย พลังงานลม ขยะ (ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชน) ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เพื่อให้สามารถส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ครบทุกประเภทเชื้อเพลิง และเพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างครบวงจรและครอบคลุมขยะทุกประเภท

สำหรับขยะอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานได้จัดทำนโยบายอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่นำร่อง “นิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม” โดยกำหนดว่า ขยะอุตสาหกรรมคือ สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงของเสียจากวัตถุดิบ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของเสียที่เป็นผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพ และน้ำทิ้งที่มีองค์ประกอบหรือมีคุณลักษณะที่เป็นอันตราย” โดยแบ่งประเภทขยะอุตสาหกรรมเป็น (1) กากอุตสาหกรรมไม่อันตราย (Non-Hazardous Waste) หมายถึง สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย หรือมีลักษณะเช่นเดียวกับมูลฝอยชุมชน (2) กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) หมายถึง สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย หรือมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังนี้ สารไวไฟ สารกัดกร่อน สารพิษ สารที่มีองค์ประกอบของสิ่งเจือปนที่เป็นสารอันตรายเกินค่ามาตรฐานที่กําหนดไว้

อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ (1) โรงไฟฟ้าที่ต่อยอดจากเตาเผาขยะอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 และมีสถานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม (2) โรงไฟฟ้าใหม่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และ (3) โรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี พลาสม่าและตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกาก อุตสาหกรรม โดยจะสนับสนุน 20 ปี

ในที่ประชุม กพช. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีมติอนุมัติอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562 ในปริมาณไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ แลเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 กพช. มีมติเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะในรูปแบบ FiT โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศรับซื้อเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 จำนวน 7 บริษัท รวม 30.78 เมกะวัตต์ ได้แก่

  1. บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 จังหวัดชลบุรี
  2. บริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  3. บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  4. บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จังหวัดพิจิตร
  5. บริษัท อนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
  6. บริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุุตสาหกรรมราชบุรี จังหวัดราชบุรี
  7. บริษัท ศแบงยั่งยืน พิจิตร จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โคลเวอร์ พิจิตร จำกัด) นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จังหวัดพิจิตร

ทั้งหมด ยกเว้นบริษัท พีจี แอนด์ ซี ที่ขอเลื่อนกำหนดการผลิตไฟฟ้าได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว

ต่อมาเมื่อวันทิ่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบและรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยได้ปรับกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จากเดิมปี 2567 – 2568 เป็นปี 2569 – 2570 โดยแบ่งปริมาณการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2569 จำนวน 100 เมกะวัตต์ และในปี 2570 จำนวน 100 เมกะวัตต์

จนเมื่อ 22 มิถุนายน 2565 กพช. มีมติเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมจำนวน 100 เมกะวัตต์ ในรูปแบบการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2569 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 (PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1)

โดยกำหนดเงื่อนไขว่า สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น กำหนดกรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) และ/หรือ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ และกำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมรายภาคแบ่งตามศักยภาพเชื้อเพลิง โดยกำหนดกรอบการรับซื้อสูงสุดในส่วนของ 100 เมกะวัตต์แรก สำหรับภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 40 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 60 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 10 เมกะวัตต์

ในระเบียบการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ที่ กกพ. ออกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ระบุว่า ภาครัฐจะรับซื้อหน่วยละ 6.08 บาท อายุสัญญา 20 ปี โดยช่วง 8 ปีแรก ได้รับ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.70 บาท และถ้าเป็นโครงการในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ได้ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.50 บาท

ในการประกาศผลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการคัดเลือก 13 ราย รวม 100 เมกะวัตต์ ดังนี้

  1. บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดปราจีนบุรี
  2. บริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดปราจีนบุรี
  3. บริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดปราจีนบุรี
  4. บริษัท พราวขวัญ พาวเวอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  5. บริษัท พรรณแสงดาว จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  6. บริษัท เคียงกัน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  7. บริษัท เดอะ พราว พาวเวอร์ จำกัด เขตประกอบการอุตสาหกรรม จี.เค.แลนด์ จังหวัดระยอง
  8. บริษัท มีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด เขตประกอบการอุตสาหกรรม จี.เค.แลนด์ จังหวัดระยอง
  9. บริษัท ทอแสง เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
  10. บริษัท กรีนซีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
  11. บริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 1 จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  12. บริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 2 จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  13. บริษัท กบินทร์ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดปราจีนบุรี

ทั้งหมด ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โดยมีกำหนดที่จะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2569-2573

ใครเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมบ้าง

แม้รายชื่อของบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการโรงไฟฟ้าทั้งในรอบแรกและในรอบที่ 2 จะมีทั้งหมด 20 บริษัท แต่เมื่อพิจารณาความเป็นเจ้าของพบว่า โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมมีเจ้าของอยู่ไม่กี่รายเท่านั้น

ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมปี 2559 จากทั้งหมด 7 บริษัท มี 2 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. เป็นบริษัทในเครือบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC คือ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดรวม 8.5 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ยังมี 2 บริษัทที่ปัจจุบันดำเนินการโดยธุรกิจโรงไฟฟ้ารายสำคัญของไทย 2 ราย โครงการแรก โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดย บริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) กำลังการผลิตตามสัญญา 4 เมกะวัตต์ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมคือ บริษัท เมโทร เอเนอร์ยี่ จำกัด มีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ซื้อหุ้นในสัดส่วน 48% ของบริษัทเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้เมื่อโรงไฟฟ้าแห่งนี้เดินเครื่องแล้วเมื่อ 27 ธันวาคม 2562 ทำให้ในปี 2562 บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 2,896 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 46 โครงการ โครงการที่สอง โรงไฟฟ้าบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 6.9 เมกะวัตต์ เป็นบริษัทร่วมทุนในเครือ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (WHAUP) บมจ. โกลว์ พลังงาน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GPSC และ SUEZ ถือหุ้นในสัดส่วน 33% โดยทั้ง WHA และ GPSC ต่างก็เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าประเภทอื่นด้วย

ส่วนอีกสามบริษัทที่ได้รับคัดเลือกในรอบนี้ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด บริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด และบริษัท ศแบงยั่งยืน พิจิตร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โคลเวอร์ พิจิตร จำกัด)  

สำหรับในปี 2566 ในการประกาศผลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 มีผู้ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 13 บริษัท ในจำนวนนี้มี 10 บริษัท ซึ่งมีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 80 เมกะวัตต์ เป็นบริษัทย่อยของบริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด (GGP) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท ETC โดยที่ ETC เป็น บริษัทในกลุ่มเบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีโรงงานผลิตขยะอัดแท่ง (RDF) อยู่ภายในกลุ่ม

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (GWTE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ของบริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด (GGP) 

มีอีก 2 บริษัทคือ บริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 1 จำกัด และ บริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 2 จำกัด ซึ่งมีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 16 เมกะวัตต์ เป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย GULF ในสัดส่วน 51% และ บริษัท เวสท์เทค เอ็กโพเนนเชียล จำกัด ((WTX บริษัทย่อยของ MILL) ในสัดส่วน 49% แต่เมื่อ 22 เมษายน 2567 ETC ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ซันเทคฯ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัทซันเทคฯ ของ GWTE WTX และ ETC อยู่ที่ 34%, 33% และ 33% ตามลำดับ

ส่วนอีก 1 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกในปี 2566 คือ บริษัท กบินทร์ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐรวม 2,299.82 เมกะวัตต์ในปี 2566

โดยสรุปแล้ว จนถึงพฤษภาคม 2567 โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 20 บริษัท มีบริษัทที่เข้าไปถือหุ้น 12 บริษัท เมื่อจำแนกตามสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 130.78 เมกะวัตต์ พบว่าเมื่อคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด 53.78 เมกะวัตต์ อันดับ 2 บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิตไฟฟ้า 45.44 เมกะวัตต์ อันดับ 3 บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กำลังการผลิตไฟฟ้า 7 เมกะวัตต์ อันดับ 4 บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด 5.28 เมกะวัตต์ อันดับ 5 บริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 4 เมกะวัตต์

เอกสารอ้างอิง

ฐานข้อมูล SPP/VSPP กกพ.

การรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562

การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

GULF รุกโรงไฟฟ้าขยะ-RDF ปิดดีลซื้อหุ้น 13 โครงการ 1.76 หมื่นล้าน คาดเริ่มขายไฟ กฟภ. ปี 69 

บทความยอดนิยม

แผนพลังงานชาติ (NEP) คืออะไร  ทำไมเพิ่งจะมี ?   แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) หรือ

ทำไม 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว' ในร่าง PDP2024 ถึงไม่จำเป็น
เรากำลังยืนอยู่บนทางแพร่งระหว่างการเดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงพลังงาน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาค
พาไปสำรวจทั่วโลกว่ามีประเทศไหนบ้างที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเท่าไร เพราะอะไร หรือยุบทิ้งไปแล้วเพราะอะไร ตลอดจนแนวคิดของไทยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในยุคที่เรียกกันติดปากว่า “ของแพง ค่าแรงถูก” ปัญหาหนักอกของคนไทยทั้งประเทศก็คือ สินค้า และบริการที่กำลังขึ้นราคานั้นหลายชนิดไม่ใช่ของหรูหราราคาแพงที่นานๆ เราจะซื้อที แต่เป็นของที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ “ค่าไฟฟ้า” สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตสมัยใหม่

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

คนใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอแล้วกับโรงไฟฟ้าก๊าซ ขอโซลาร์เซลล์เต็มศักยภาพและรัฐต้องสนับสนุน

ชาวใต้เสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ชาวเหนือเรียกร้องปิดตำนาน ‘แม่เมาะ’ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว

ประชาชนควรมีส่วนร่วมในแผน PDP จากระดับพื้นที่ ย้ำคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

CFNT เปิดผลวิจัยประเมินมูลค่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเสวนาแผน PDP 2024

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วนจะต้องปิดตัวลงก่อนสิ้นอายุทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จนกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets)

ร่างแผน PDP2024 ที่ควรจะเป็นในความคิดเห็นของชาวภาคตะวันออก 

หยุดเซ็นโรงใหม่ ชะลอโรงที่เซ็นไปแล้ว หนุนโซลาร์เซลล์