พีรยา พูลหิรัญ และธัญญาภรณ์ สุรภักดี
โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย (JET in Thailand)
‘การรับมือกับวิกฤติโลกเดือด’ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างมากในตอนนี้ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการรั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกเดินไปสู่จุดที่ไม่มีวันหวนกลับได้ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015 หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ได้มีการจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก นำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ลงอย่างน้อย 45% (เมื่อเทียบกับปี 2010) ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050
ส่งผลให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องร่วมดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในนั้นคือเร่งเดินหน้าสู่การเปลี่ยนพลังงาน บทความฉบับนี้จะพาคุณไปสำรวจการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยว่ายืนอยู่ตรงจุดไหนเมื่อเทียบกับนานาประเทศ และสามารถพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์โลกเดือดที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมต้อง ‘เปลี่ยนผ่านพลังงาน’
การเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition คือการเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ดังนั้น ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงาน’ จึงเป็นภารกิจที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าเป็นสิ่งที่ ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้’ หากต้องการหยุดยั้งวิกฤตในครั้งนี้
นอกจากเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 จะถูกระบุไว้ในการประชุม COP21 แล้ว การประชุม COP27 ยังคงย้ำให้ทุกประเทศทบทวนและตั้งเป้าหมายในปี 2030 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในการประชุม COP28 ได้มีข้อเรียกร้องให้ทั่วโลกเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานอย่างเร่งด่วน จะเห็นได้ว่าปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตามองเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน ก่อนที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย
จากรายงาน ‘2030 Global Renewable Target Tracker’ ซึ่งจัดทำโดย Ember องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลและนโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ได้ทำการสำรวจและติดตามเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในปี 2030 ของ 85 ประเทศทั่วโลก ประเมินว่าไทยไม่มีเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ ปี 2030 โดยเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดของไทยถูกกำหนดไว้ในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) ซึ่งพบว่าในปี 2037 ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 37 นับว่าช้ากว่าหมุดหมายของโลกถึง 7 ปี
นอกจากนี้ Ember ยังได้ประเมินว่าการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทย ณ ปี 2030 ยังไม่ชัดเจน โดยพิจารณาจากมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมีมติเห็นชอบแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2021-2030 (พ.ศ. 2564-2573) เพื่อสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 – 40 (เมื่อเทียบกับปี 2005) ภายในปี 2030 ตามที่ระบุไว้ในแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 หรือ NDC2 ซึ่งไทยประกาศไว้ใน COP26 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ
ซึ่งแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2564-2573 ทำให้ในปี 2030 ไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 22 กิกะวัตต์ ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 10 กิกะวัตต์ พลังงานลม 4 กิกะวัตต์ พลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ และอื่น ๆ รวม 8 กิกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าความเชื่อมั่นต่อการบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนของไทยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากไม่ได้มีการทบทวนหรือปรับปรุงเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในแผน AEDP2018 ทำให้เป้าหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผน NDC2 ที่ไทยได้ประกาศไว้ต่อชาวโลก
การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยบนแผนที่โลก
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของไทยจากรายงาน ‘2030 Global Renewable Target Tracker’ กับประเทศอื่นๆ พบว่า ไทยเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่ไม่มีการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2030 รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และเมียนมาก็ไม่มีการกำหนดเป้าหมายเช่นเดียวกับไทย ในขณะที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2030 มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีแผนที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero อย่างช้าที่สุดภายในปี 2050
อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นความก้าวหน้าด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของบางประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนามที่กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2030 ถึงร้อยละ 47 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และ Ember ได้ประเมินว่าเวียดนามมีความเชื่อมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในระดับสูง โดยแผนพลังงานของเวียดนามมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์และลม ควบคู่ไปกับการสร้างระบบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) สอดรับกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายและสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับประเทศมาเลเซียที่มีทั้งเป้าหมายและแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับชาติเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากไทยที่ไม่มีเป้าหมายและแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ชัดเจนมารองรับ รวมถึงการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ที่ถือว่าล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน
ไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน?
นอกจากการสำรวจคุณภาพของเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย เราลองมาสำรวจความพร้อมของไทยต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากข้อมูลในรายงานดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Index) ซึ่งจัดทำขึ้นทุกๆ ปี โดย World Economic Forum ในรายงานฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีคะแนนดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานรวม 55.8 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) อยู่อันดับที่ 60 จาก 120 ประเทศ และมีอันดับลดลงจากปีที่แล้วซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 54 ขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนมีอันดับสูงกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 32 40 และ 54 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การจัดทำดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานมีการประเมิน 2 ด้านหลัก ได้แก่
- ด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน โดยพิจารณาจากมิติความเป็นธรรม ความมั่นคงทางพลังงาน และความยั่งยืน
- ด้านความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยพิจารณาจากมิติกฎระเบียบและความมุ่งมั่นทางการเมือง การเงินและการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์
จากผลการประเมินดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน พบว่าในด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน ไทยมีคะแนนรวม 65 คะแนน ตัวชี้วัดที่มีคะแนนค่อนข้างดีคือ การเข้าไฟฟ้าซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ และระบบไฟฟ้าค่อนข้างเสถียร มีอัตราการเกิดปัญหาไฟตกไฟดับต่ำ แต่ยังมีบางตัวชี้วัดที่ชี้ว่าไทยยังขาดประสิทธิภาพ ได้แก่ พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป และก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง ทำให้ค่าไฟครัวเรือนมีราคาแพงตามไปด้วย อีกทั้งมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่ำ
สำหรับด้านความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไทยมีคะแนนรวม 51 คะแนน ตัวชี้วัดที่มีคะแนนค่อนข้างดีคือ มีแหล่งเงินทุนในประเทศสำหรับการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำได้แก่ กฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนต่ำ ขาดการคิดภาษีคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นกลไกที่ทั่วโลกใช้เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ขาดการขยายกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน รวมถึงขาดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างโซลาร์เซลล์ หรือกังหันลมผลิตไฟฟ้า ในมิติด้านการศึกษาและทรัพยากรบุคคล ไทยได้คะแนนต่ำที่สุดเนื่องจากขาดแรงงานที่มีทักษะในระดับปานกลางและระดับสูง รวมถึงสัดส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนมีไม่มากในตลาดแรงงาน
ก้าวหน้า…? หรือพัฒนาได้มากกว่านี้ ?
จากผลการประเมินของ Ember และ World Economic Forum คงพอช่วยทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาไทยยืนอยู่ตรงจุดไหนในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถึงแม้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP2024 ซึ่งกำลังจะมีการประกาศใช้ ได้ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ 51% ณ ตอนสิ้นสุดแผนในปี 2037 เพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาคมโลก แต่ยังมีข้อคำถามเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- ปี 2030 และ 2037 ยังคงมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ถึง 67 % และ 48 % ตามลำดับ โดยที่ยังไม่มีแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าฟอสซิลออกจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน
- มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลเพิ่มอีก 8 โรง จำนวน 6,300 เมกะวัตต์
- ในเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 51% มีการวางแผนซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาวเพิ่มจำนวน 3,500 เมกะวัตต์ ทั้งที่มีผลการศึกษาวิจัย รวมถึงหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนอย่างไรบ้าง ถึงแม้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ตาม
- ถึงแม้ในปี 2037 จะมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 16% แต่ไม่มีการกำหนดเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาที่ชัดเจน ทั้งที่มีผลการศึกษาว่าไทยมีศักยภาพในการติดตั้งรวม 34,741 เมกะวัตต์
และเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในร่างแผน PDP2024 จากเดิม 30% เป็น 40%
จากนี้ไปเราคงต้องช่วยกันติดตามว่าผลการทบทวนและพิจารณาปรับปรุงร่างแผน PDP2024 จะออกมาเป็นอย่างไร การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยจะก้าวหน้ากว่านี้ได้หรือไม่ และมีความพร้อมแค่ไหนต่อการรับมือวิกฤตโลกเดือด ภายใต้แผน PDP ฉบับใหม่
รายการอ้างอิง
กรมองค์การระหว่างประเทศ. (ม.ป.ป.). ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. https://thai-inter-org.mfa.go.th/th/page/menu=5d847835517e9b159b5eba97
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. (2567). เมื่อโลกร้อนและรวน: ภาคส่วนใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด?. https://www.undp.org/stories/greenhouse-emissions-thailand-
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. (2566). มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566. https://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/component/k2/itemlist/category/429-resolutionsn
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. (2567). เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024). https://drive.google.com/file/
Ember. (n.d.). 2030 Global Renewable Target Tracker. https://ember-climate.org/data/data-tools/global-renewable-power-target-tracker-2030/
JustPow. (2567). 13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024. https://justpow.co/project-ebook-pdp/
JustPow. (2567). สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2529-2566. https://justpow.co/infographicfuel-consumption-power-generation/
World Economic Forum. (2024). Fostering Effective Energy Transition 2024. https://www.weforum.org/publications/fostering-effective-energy-transition-2024/
United Nations. (n.d.). For a livable climate: Net-zero commitments must be backed by credible action. https://www.un.org/en/climatechange/net-zero-coalition
United Nation. (n.d.). The Paris Agreement. https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement